หลังจากที่นาย เศรษฐา ทวีสิน ได้รับเสียงเห็นชอบ 482 เสียงในการโหวตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา และได้เข้าพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยอย่างเป็นทางการแล้วนั้น ถือเป็นการเริ่มต้นเดินหน้ารัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศรับไม้ต่อจากรัฐบาลชุดเดิม ซึ่งแน่นอนว่าโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งทำและแก้ไข คือปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของไทย ที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้การใช้เวลาเกือบ 100 วัน เพื่อได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีนั้น ได้สร้างสุญญากาศให้เศรษฐกิจไทยไม่น้อย จากรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.8 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสแรกของปี 2566 (%YoY) ทำให้รวมครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.2
หากดูลงไปในรายละเอียดตัวเลข ‘สภาพัฒน์’ รายงานนั้น จะพบว่า มีหลายเครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทย ที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคการส่งออกสินค้าที่หดตัว 5.7% ซึ่งปรับตัวลดลง 3 ไตรมาสติดต่อกันนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2565 ส่งผลกระทบไปถึงภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลง 3.3% ส่วนการอุปโภคภาครัฐปรับตัวลดลง 4.3% การลงทุนภาครัฐก็ลดลง 1.1% และการลงทุนภาคเอกชน แม้จะขยายตัว 1% แต่ก็ชะลอตัวลงจากระดับ 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้านี้ มีเพียงการส่งออกบริการหรือการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี 54.6% ซึ่งถือเป็นกำลังหลักหนึ่งเดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้
แนะอัดเงินในระบบเศรษฐกิจ 1-2 แสนล้านบาทช่วง 3 เดือนสุดท้าย
ตามปกติแล้วการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นก็คงหนีไม่พ้นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับในช่วงวิกฤติโควิด19 ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจไทย อยู่ในภาวะฉุกเฉินหรือไม่
‘รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เขี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ’ ให้ความเห็นว่า โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่ ไม่ต้องมองไกลถึงปีหน้า แต่คือ 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรให้กลับมาเติบโตได้ถึง 3% ตามที่ประมาณการไว้
แม้ว่า พรรคเพื่อไทย จะมีนโยบาย Digital Wallet แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทแบบถ้วนหน้า แต่ตามไทม์ไลน์ ไม่สามารถเริ่มต้นโครงการได้ภายในปีนี้แน่นอน ดังนั้น จำเป็นจะต้องมีมาตรการเร่งด่วนที่สุด ด้วยการเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้ 1-2 แสนล้านบาท เพื่อมีส่วนช่วยกระตุ้นจีดีพี 0.2-0.5% โดยที่จะต้องไม่กระทบกับงบประมาณมากนัก และกรอบวินัยการคลังมากนัก
สำหรับมาตรการที่คาดว่ารัฐบาลจะนำมาใช้ น่าจะไม่แตกต่างจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสิ้นปีจากปีก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางภาษี เช่น ช้อปดีมีคืน , ช้อปช่วยชาติ , การให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับร้านค้า และ ร้านอาหาร ไปจนถึงการให้สิทธิเศษทางภาษีกับผู้ที่ออกมาท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นต้น ซึ่งหากทำในลักษณะนี้ก็จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยไม่ต้องอัดเม็ดเงินเข้าไปในระบบมากนัก แค่จะส่งผลในระยะยาวในการจัดเก็บภาษีได้น้อยลง
เพิ่มศักยภาพธุรกิจไทย ช่วยบรรลุเป้า จีดีพีโตปีละ 5% ได้
นอกจากมองในมุมของการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กับประชาชนแล้ว ยังมีภาคธุรกิจที่ต้องประคับประคอง เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่น่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า เศรษฐกิจแต่ละภาคส่วนนั้นมีความซับซ้อน และเผชิญปัญหาไม่เหมือนกัน จะดำเนินมาตรการใด ๆ ต้องมองถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม แต่ภาคการผลิตและการส่งออก น่าจะเป็นอุตสาหกรรมแรก ๆ ที่รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ
นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า ธุรกิจที่อยู่ในภาคการส่งออก ต้องเผชิญกับปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ทำให้ติดลบมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 รัฐบาลอาจจะต้องช่วยหาตลาดใหม่ เร่งทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพิ่มเติม เปิดโอกาสให้สินค้าไทยได้ไปตลาดอื่น ๆ อาจจะเห็นผลช้า แต่ถ้าไม่ทำเลย ก็มีโอกาสเติบโตยาก
“ปัจจุบันไทยพึ่งพาการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แต่ถ้าเทียบกับประเทศประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเติบโตได้ดีอย่างเวียดนาม ที่มี ความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP และยังมีความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม เพิ่มเติมอีก ถือว่าไทยเราเสียเปรียบมากพอสมควร
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจของไทยยังประสบปัญหาการปรับตัว เช่นการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีเอไอที่จะสามารถช่วยลดต้นทุน เพิ่มความขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว , การจัดการคาร์บอน เพื่อป้องกันกำแพงภาษีจากการส่งออกในอนาคต ไปจนถึงปัญหาทักษะแรงงานไม่ตรงกับความต้องการ โดยมองว่า ถ้าควรมาตรการเป็นแพ็กเกจ เริ่มจากให้ความรู้ คัดเลือก และมอบเงินทุนกับธุรกิจที่ผ่านคุณสมับติ หรือสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หากทำได้ อาจช่วยให้จีดีพีโตได้ 5% ต่อปีตามที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้
รื้อระบบราชการ-แก้ทุนผูกขาด-กระจายอำนาจ-ลดความเหลื่อมล้ำ
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) วิเคราะห์ปัญหาของเศรษฐกิจไทย มีปัญหาเรื้อรังหลายด้านมาเป็นเวลานาน จะแก้ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเหมือนที่ผ่านมาก็คงไม่ได้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือการรื้อระบบเดิม คือโจทย์ใหญ่ ที่ต้องเร่งทำให้สำเร็จ
โครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีทุนผูกขาดที่ทำให้เกิดการกระจุกตัวเชิงรายได้อยู่กับเอกชนไม่กี่ราย ทั้งนี้ สังเกตได้จากค่าครองชีพในแต่ละภูมิภาคที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วยหลายปีนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้น ดังนั้น รัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้มีการผูกขาดการค้าน้อยที่สุด ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือน ทั้งราคาพลังงาน และต้องเปิดเสรีทางการค้าเพิ่มขึ้น เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตร
ต่อมาคือการกระจายอำนาจ ซึ่งปัญหานี้คือสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยโตช้าที่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ยกเว้นเมียนมา และทำให้ความเจริญกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดฝั่งตะวันออก ชายฝั่งทะเล และเมืองใหญ่ เป็นต้น ดังนั้นต้องกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ ให้ท้องถิ่นมีอำนาจออกกฎหมายได้เอง เพราะเป็นคนในพื้นที่ มีความเข้าใจปัญหามากกว่า ส่วนกลางทำหน้าที่ตรวจสอบ อนุมัติงบประมาณ และวางกรอบนโยบายใหญ่เท่านั้น
ขณะที่ความเหลื่อมล้ำของไทยนั้น แม้จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแต่ยังอยู่ในระดับสูงหากเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งกรณีนี้จะเชื่อมโยงกับทุนผูกขาดที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ แต่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือการพัฒนาการศึกษาให้คนไทยเข้าถึงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพแรงงานในระยะยาว ปรับโครงสร้างรายได้ให้กับประเทศจากต้นเหตุของปัญหา อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด คือการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ หากไทยไม่เร่งทำ ประชาชนคนรุ่นใหม่ ก็ต้องได้รับผลกระทบที่ตามมา
“รื้อระบบราชการครั้งใหญ่ ไม่ต้องใช้เงิน แต่ได้ประโยชน์แน่นอน”