หวั่นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ดันเงินเฟ้อ แตะ 2.0%

19 ก.ย. 2566 | 10:46 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2566 | 10:47 น.

กูรูห่วง “นโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง” ซ้ำเติมต้นทุนภาคธุรกิจ หลังราคาวัตถุดิบขยับ จับตา ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้า ซีไอเอ็มบีไทย เตือน เงินเฟ้อปีหน้า อาจขยับสูงขึ้นเฉียดระดับ 2.0% จากปัญหาภัยแล้ง ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แจกเงินดิจิทัล

กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนสิงหาคม 2566 พบว่า ขยายตัว 0.88% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.38% ในเดือนกรกฎาคม 2566 ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน เมื่อเทียบกับต่างประเทศพบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำและยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลขทั้งสปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน  ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกชะลอตัว ทำให้ความเสี่ยงแบ่งเป็น 2 ขั้ว โดยฝั่งยุโรป โดยเฉพาะสหรัฐ แม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับลด แต่ยังลดลงช้า โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน จึงน่าจะเป็นปัญหากดดัน ทำให้มีโอกาสที่จะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก ซึ่งมีแนวโน้มว่า สหรัฐจะเปิดโอกาสให้ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคมนี้ เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป ที่ยังไม่ปิดประตูดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นกัน 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน  ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย

ขณะที่ฝั่งเอเซียแปซิฟิกที่ขับเคลื่อนด้วยภาวะเงินเฟ้อต่ำ เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อ ของจีนที่ติดลบ และราคาสินค้าปรับลดลง ส่วนหนึ่งภาวะเศรษฐกิจในจีนอ่อนแอลง ขณะเงินเฟ้อในฝั่งเอเซียมาจากด้านพลังงาน, ราคาสินค้าปรับตัวลดลง ทำให้ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งไทย ก็มีความเป็นไปได้ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P) 2.25% ต่อปี น่าจะเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น  

“แม้ปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ แต่อย่าไว้วางใจ เพราะปีหน้าอาจจะเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับสูงขึ้นเฉียดระดับ 2.0% เพราะยังมีเรื่องให้ระมัดระวังคือ ปัญหาภัยแล้ง ทำให้ราคาอาหารขยับตัวสูงขึ้น เพราะผลผลิตออกมาน้อยทั้งปศุสัตว์ พืชผัก ขณะที่ฝั่งอุปสงค์ที่มาจากมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจทำให้กำลังซื้อระดับล่างหมุนเวียนดีขึ้น และมาตรการแจกเงิน ซึ่งจะทำให้เกิดเงินสะพัดมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัว”นายอมรเทพกล่าว

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของประเทศต่างๆ

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย ปัจจุบันขยับเป็นบวกแล้ว และหลายประเทศอยู่ในระดับคล้ายกัน ซึ่งอย่างน้อยก็ป้องกันไม่ให้คนลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงจนเกินไปและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม (Policy Space) ที่สามารถประคองเศรษฐกิจได้  

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินตั้งข้อสังเกตุว่า การคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงขึ้นอยู่กับว่า จะใช้อัตราเงินเฟ้อนิยามใด อย่างถ้าใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปัจจุบันอยู่ที่ 0.88% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะอยู่ที่ 1.37% จากดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25 หากดูที่คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 3.0% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเท่ากับ 0.75% หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.3% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเท่ากับ 1.05% หรืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน 5 ธนาคารเฉลี่ยอยู่ที่ 1.40% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงส่วนใหญ่ยังติดลบ 

ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่า ตลาดประเมินท่าทีของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงต้องการจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก เนื่องเพราะกนง.มีความกังวลต่อทิศทางอัตราเงินเฟ้อในอนาคตที่มีโอกาสจะค่อยๆ ขยับขึ้นได้ ทั้งจากปัจจัยภัยแล้ง ความผันผวนจากราคาน้ำมัน หรือนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนของภาคธุรกิจ นอกจากราคาวัตถุดิบที่ปรับขึ้นแล้ว และผู้ประกอบการอาจจะส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้า 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า ทิศทางเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับ ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก แต่สิ่งที่ยังกังวลคือ ปีหน้าเงินเฟ้อจะปรับขึ้นหรือไม่ เช่นหากเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นเดือนละ 0.3-0.4% ก็ต้องจับตาราคาน้ำมันหรือภัยแล้ง เพราะราคาน้ำมันดิบปัจจุบันสอดคล้องกับปีที่แล้ว จึงเริ่มมีการมองว่า ถ้าโอเปกยังลดกำลังการผลิตพลังงานต่อเนื่อง และเศรษฐกิจจีนกับสหรัฐเริ่มดี ราคาน้ำมันอาจขึ้นต่อได้ 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย

“อัตราเงินเฟ้อปีนี้มีแนวโน้มทยอยต่ำลง เพราะฐานราคาปีก่อนสูงมาก แต่ก็ต้องจับตา เพราะราคาสินค้าเกษตร น่าจะสูงตามภัยแล้ง ด้วย ซึ่งเงินเฟ้อยังมีตัวแปรอีกหลายจุดที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะนโยบายจากภาครัฐ ส่วนตัวมองธปท.จะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือถ้าธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยโอกาส 45% ด้วยเหตุผลว่า ต้องการเพิ่ม Policy Space ซึ่ง Krung Compass คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปใน 3 ปีข้างหน้า(ปี2566-68) อยู่ที่ 1.7% 2.2% 2.0% ตามลำดับ”นายพูน กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,922 วันที่ 14 - 16 กันยายน พ.ศ. 2566