นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับสื่อมวลชนที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในช่วงของการเดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ UNGA ครั้งที่ 78 ว่า รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งขณะนี้ ธปท. กำลังจับตาเงินบาทที่อ่อนค่าลง
โดยเห็นว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงในขณะนี้เป็นผลมาจากกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศไทย อันเนื่องมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (interest rate differential) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงและใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเชิงรุก ซึ่งส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น
นายเศรษฐา ระบุว่า การอ่อนค่าของเงินบาทไม่ใช่เรื่องแย่ไปทั้งหมดสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยเงินบาทที่อ่อนค่าอาจจะเป็นปัจจัยหนุนภาคการส่งออกและท่องเที่ยว
"การอ่อนค่าของเงินบาทไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป เพราะเมื่อเงินบาทอ่อนค่าจะช่วยหนุนการส่งออก และทำให้ประชาชนจำนวนมากขึ้นอยากจะเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายเงิน ซึ่งนั่นเป็นประโยชน์กับเรา" นายกฯ ระบุ
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า เงินบาทอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 เดือนที่ 36.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 และนับตั้งแต่ต้นปีนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงไปแล้ว 4.4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
นายเศรษฐา กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ที่ผ่านมาได้รับทราบสถานการณ์เงินบาทอ่อนของไทยแล้ว และเรื่องนี้อยู่ในความดูแลของ ธปท. พร้อมยืนยัน รัฐบาลไม่ได้ไปก้าวก่าย และเข้าใจว่าเป็นเรื่องของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ผลตอบแทนระยะสั้น ซึ่งทำให้เงินทุนไหลออก เพื่อเก็งกำไร ในแง่ประเทศอื่นที่มีส่วนต่างของดอกเบี้ยสูงกว่า
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปีมีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลระดมเงินทุนจำนวนมาก ทำให้กระทบต่อสภาพคล่องของเอกชนนั้น ปัจจุบันสภาพคล่องในประเทศไทยยังมีอยู่เยอะมาก ตรงนี้จึงไม่น่าใช่ประเด็น เรื่องนี้ได้หารือกับกระทรวงการคลังแล้ว ยืนยันไม่น่ากังวลต่อสภาพคล่องของเอกชน