หวั่นเฟดขึ้นดอกเบี้ย กดบาทอ่อนแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์

24 ก.ย. 2566 | 06:17 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2566 | 06:17 น.

ตลาดผิดหวัง เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย เทขายสินทรัพย์เสี่ยง กดดันเงินบาทอ่อนต่อเนื่อง พบ 8 เดือนเศษนักลงทุนต่างชาติเทขายทั้งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ รวม 2.87 แสนล้านบาท จับตาระยะสั้น บาทอ่อนแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

การประชุมคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ล่าสุด แม้จะคงดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% แต่ยังคงส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 5.6%ภายในสิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี และส่งสัญญาณจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง โดยสิ้นปี 2567 สู่ระดับ 5.1% สิ้นปี 2568 สู่ระดับ 3.9%และคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะอยู่ที่ระดับ 2.5%

ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดจะประชุมอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี ในวันที่ 27 กันยายน และวันที่ 29 พฤศจิกายน หลังจากเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จากระดับ 0.50% ล่าสุดอยู่ทีที่ระดับ 2.25%

การเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลต่างๆทั่วโลก

ขณะที่เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติยังคงไหลออกอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) และตลาดหุ้นไทย โดยวันที่ 1-20 กันยายน 2566 นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิในตลาดบอนด์ 18,898 ล้านบาทและขายสุทธิหุ้นไทย 18,280 ล้านบาท เมื่อรวมช่วง 8 เดือนเศษของปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันพบว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยถึง 153,478 ล้านบาทและตลาดบอนด์ 133,525 ล้านบาท

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดผิดหวังที่เฟดส่งสัญญาณดอกเบี้ยสูงและลากยาว จากที่คาดว่าปีหน้าเฟดจะลดดอกเบี้ยได้เร็ว ทำให้ตลาดกังวลต่อผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นโดยอายุ 10 ปีเหนือ 4.4% แล้ว ยิ่งทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมีการเทขายออกมาทำให้ดอลลาร์แข็งค่า 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย

ขณะที่ปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม ยังมีเรื่องความเสี่ยงเรื่องงบประมาณสหรัฐที่จะไม่สามารถเจรจาได้ ทำให้คนมีความเป็นห่วงเรื่องสภาพคล่องในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตามตลาดทุนกังวลอยู่ 7 เรื่องคือ

  1. ตลาดไม่เชื่อว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้งไปแตะที่ระดับ 5.75% ต่อปีในปลายปีนี้ ตามที่ส่งสัญญาณ
  2. ตลาดไม่พอใจที่ปีหน้าเฟดจะลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่เคยระบุ และแนวโน้มจะต้องคงดอกเบี้ยนานขึ้น เพราะห่วงเงินเฟ้อยังสูง ดังนั้นต้องรอดูต่อไปว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้เมื่อไหร่ ซึ่งตอนนี้อาจจะเห็นไตรมาส 3 จากเดิมคาดไว้ราวไตรมาส 1-2
  3. เศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่งคือ ต่อให้คงดอกเบี้ยสูงนาน ก็ไม่สะท้าน GDP สหรัฐยังมีโอกาสขยายตัวได้ 2.1% ในปีนี้และราว 1.5% ปีหน้า ซึ่งไม่น่าเห็น technical recession หรือกรณีเศรษฐกิจหดตัวไตรมาสต่อไตรมาส
  4. เงินเฟ้อกำลังลดลง แต่ยังเหนือเป้าหมายที่ 2.0% ลากยาวไปอีกหลายปี โอกาสลดดอกเบี้ยให้ต่ำๆ คงยากเว้นเผชิญเศรษฐกิจถดถอย ยิ่งราคาน้ำมันพุ่งขึ้นยิ่งน่ากังวล
  5. บอนด์ยีลด์ปรับสูงขึ้น สะท้อนทั้งโอกาสดอกเบี้ยสูงลากยาว เงินเฟ้อยังแรง เศรษฐกิจยังขยายตัวดี แต่ภาพนี้ทำให้คนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ไปถือดอลลาร์ เห็นได้จากค่าเงินบาทอ่อนค่าแรงในช่วงนี้
  6. มองในระยะต่อไป ตลาดคงต้องจับตาการพัฒนาของตลาดแรงงาน เงินเฟ้อ และตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ รวมทั้งปัญหา Government shutdown หากเกิดขึ้นในเดือนหน้านี้ ภาพความเสี่ยงนี้ย่อมมีผลให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง
  7. ทองคำยังน่าสนใจในระยะสั้นจากเงินเฟ้อสูงยาว ปัญหาน้ำมันแพง แม้ดอลลาร์แข็งทำความน่าสนใจในทองคำลดลง แต่เมื่อบาทอ่อน ราคาทองคำแท่งจึงพุ่ง

สอดคล้องกับนางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะสั้น โดยอาจจะอ่อนค่าไปทดสอบแนว 36.40 บาทต่อดอลลาร์จาก 3 ปัจจัยที่จะกดดันด้านอ่อนค่าคือ

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

  • .แนวโน้มที่เฟดยังคงต้องดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวด เพราะลดดอกเบี้ยน้อยและลดช้า แม้จะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้
  • การอ่อนค่าของเงินหยวน แม้ทางการจีนผลักดันมาตราการดูแลค่าเงิน แต่ปัจจัยพื้นฐานของจีนยังไม่ได้แก้ไข และ 3.ปัจจัยในประเทศของไทยที่อยู่ในช่วงรอจังหวะฟื้นตัว ซึ่งอาจจะไม่เกิดขึ้นในระยะสั้น

 ขณะเดียวกัน ปัจจัยในประเทศไทยยังมีปัจจัยกดดันเข้ามาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ทั้งจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่อ่อนแอ ความเป็นห่วงต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยบวกปัจจัยต่างประเทศที่มีมาเรื่อยๆ ดังนั้น ความกังงวลต่อปัจจัยในประเทศมากขึ้น จึงกดดันต่อเงินทุนไหลออกในเดือนกันยายนนี้ต่อเนื่อง

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า ทิศทางเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยมีแรงกดดันหลายสาเหตุ แต่หลักๆ มาจากความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายภาครัฐ ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่เข้ามา ประกอบกับดอลลาร์แข็งค่าและเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง ไม่ลงทุนในเงินบาทหรือสินทรัพย์เสี่ยง

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล. ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด

“ช่วงบาทผันผวน ธปท.จะเข้าดูแลอยู่แล้ว ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายไทย ควรปรับขึ้นไปก่อน ส่วนหนึ่งเพื่อดูแลค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ เพราะแนวโน้มสถานการณ์ต่างๆ มากระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า อย่างน้อยเรายังมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายหรือ Policy Space” ดร.จิติพล กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,925 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2566