ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานสินเชื่อบัตรเครดิตล่าสุด เดือนกรกฎาคม 2566 พบว่า มียอดคงค้าง 4.60 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 6,542.49 ล้านบาทหรือ 1.44% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายรวมแตะ 2.12 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 13.68% จาก 1.87 แสนล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 2.30% เป็น 25.95 ล้านใบ
อย่างไรก็ตาม แม้ยอดสินเชื่อรวมจะเพิ่มขึ้น 1.44% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์พบว่า มียอดคงค้าง 2.66 แสนล้านบาท ปรับลดลง 6,824.89 ล้านบาทหรือ 2.49% ขณะที่ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์(นอนแบงก์) มียอดคงค้าง 2.33 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 53,367.38 ล้านบาทหรือ 29.63%
นอกจากนั้น หากย้อนหลังไปถึงเดือนกรกกฎาคม 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ยอดสินเชื่อคงค้างกลุ่มธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.37 แสนล้านบาทลดลง 4.51% เทียบช่วงเดียวกันปีนี้ ขณะที่นนอนแบงก์เพิ่มขึ้นกว่า 46.93% สะท้อนการรุกตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตของกลุ่มนอนแบงก์อย่างต่อเนื่องจากจำนวนที่มีอยู่ 1.59 แสนล้านบาท ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายรวมเทียบย้อนหลัง 5 ปี(ก.ค.66-ก.ค.62) พบว่า ปริมาณการใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 18.53% เป็น 2.12 แสนล้านบาท จาก 1.79 แสนล้านบาท
ส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) สินเชื่อบัตรเครดิต ลดลง 13.09% จาก 64,474 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 56,031 ล้านบาท ณ ไตรมาส2/66 และหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM) มีทั้งสิ้น 8,827 ล้านบาทลดลง 2.72% จาก 8,593 ล้านบาทช่วงเดียวกันปีก่อน
นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ทีเอ็มบีธนชาต(ทีทีบี)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วงไตรมาส4 ปีนี้ปี คาดว่า การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูการจับจ่ายของปีและปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการอื่นๆ แต่ปัจจัยที่ต้องระมัดระวังคือ ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงท่ามกลางดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตสินเชื่อในปัจจุบัน
สำหรับภาพรวมการใช้จ่ายเป็นไปในทิศทางที่ดีในไตรมาส 4 ประมาณการณ์อัตราการเติบโตที่ 25-30% และเติบโต 20% ในปี 2567 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย ขณธที่ประมาณการณ์จำนวนบัตรใหม่แตะ 3 แสนใบและยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 1.3 แสนล้านบาท
ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 1%ต้นๆ ต่ำกว่าตลาดโดยภาพรวม แต่แน่นอนว่า จากภาพเศรษฐกิจที่ยังคงมีความท้าทาย ทีทีบีก็จะยังเน้นย้ำการเติบโตสินเชื่ออย่างระมัดระวัง โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ เพื่อคงระดับเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับต่ำและเป็นไปตามเป้าหมาย
ต่อข้อถามแคมเปญพิเศษไตรมาส 4 นั้นนายจเรกล่าวว่า ทีทีบี ได้เตรียมและคัดสรรสิทธิพิเศษหลายรูปแบบในทุกหมวดใช้จ่ายที่สำคัญ โดยเน้นในหมวดใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน กิน ช้อป เที่ยว เช่น สิทธิพิเศษในหมวดร้านอาหาร เติมน้ำมัน ช้อปปิ้ง การท่องเที่ยว และ ผ่อน 0% เป็นต้น
“อัตราการอนุมัติบัตรเครดิตทรงตัว โดยมีปริมาณการสมัครจากบัตรเครดิตพันธมิตรร่วมโกลบอลเฮ้าส์เข้ามาตามเป้าที่ตั้งไว้ ขณะเดียวกันคุณภาพลูกค้าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยยังคงรักษาระดับเอ็นพีแอลได้อยู่ที่ 1% ต้นๆ ยอดการใช้จ่ายในหมวดหลักจะเป็น หมวดประกัน ซุปเปอร์มาร์เกต เติมน้ำมัน รักษาพยาบาล และช้อปปิ้ง”นายจเรกล่าว
ส่วนมุมมองเกี่ยวกับการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนนั้น ทาง ทีทีบีสนับสนุนนโยบายการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์ Responsible Lending ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการณ์ โดยธนาคารมีจุดมุ่งหมายในการไม่ทำให้ผู้ขอสินเชื่อก่อหนี้เกินตัว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการอนุมัติที่ดูความสามารถในการชำระหนี้ และให้เหลือรายได้หลังจากค่าใช้จ่ายเงินกู้ต่างๆ นอกจากนั้นธนาคารก็เน้นการรวบหนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรือ เงินกู้สวัสดิการด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของลูกค้าอยู่สม่ำเสมอ