ผงะ!หนี้ต่อหัวคนไทยพุ่งถึง 5.2 แสนบาท ชี้มีมากกว่า 4 บัญชี

18 ก.ย. 2566 | 02:05 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2566 | 02:34 น.

ผงะ!หนี้ต่อหัวคนไทยพุ่งถึง 5.2 แสนบาท ชี้มีมากกว่า 4 บัญชี ระบุแม้ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเริ่มขยายตัวชะลอลง แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.6% ของจีดีพี สูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ธนาคารทหารไทยธนชาต เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทย 90.6% ต่อจีดีพี คิดเป็น 15 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่น่ากังวล ไม่เหมือนกับสินเชื่อบ้านและรถที่เอาไว้ใช้ทำงานและสร้างรายได้ 

ทั้งนี้ จากข้อมูลคนไทยมีหนี้มากกว่า 4 บัญชีขึ้นไป เฉลี่ยต่อคนมีหนี้สูงถึง 520,000 บาท โดยหนี้ครัวเรือน แบ่งเป็นสัดส่วน ธนาคารพาณิชย์ 42% ,แบงก์รัฐ 28% ,สหกรณ์ออมทรัพย์ 15% และอีก 12% เป็นนอนแบงก์ และคนไทยมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 40% และบัตรเครดิต 30% รวมกันมากถึง 70% ที่เป็นหนี้ไม่สร้างรายได้

อย่างไรก็ดี แม้ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเริ่มขยายตัวชะลอลงอย่างช้า ๆ แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.6% ของจีดีพี ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากออสเตรเลียและเกาหลีใต้ ท่ามกลางรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่รายได้กลับทรงตัวในระดับต่ำยาวนาน 
 

ส่งผลให้ครัวเรือนจำเป็นต้องกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อรักษาระดับการบริโภค ทำให้หนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงของไทยกลายเป็นปัญหาเรื้อรังและกำลังบั่นทอนการบริโภคของภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย หากหนี้ครัวเรือนยังคงขยายตัวปีละ 3-4% เช่นนี้ต่อไป ก็อาจเป็นการยากที่จะปรับลดให้อยู่ในระดับเหมาะสมที่ไม่เกิน 80% ต่อจีดีพีได้

นอกจากนี้ ยังต้องระวังข้อจำกัดด้านการคลัง เพราะหากมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีผลต่อภาระการคลังอย่างไร แม้หนี้สาธารณะคงค้างของไทยยังต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้สาธารณะ หรืออยู่ที่ 61.7% ต่อจีดีพี แต่การขาดดุลการคลังต่อเนื่องมาตลอดหลาย 10 ปี จากโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ที่ค่อนข้างต่ำ สวนทางกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ส่งผลให้รัฐจะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เป็นประจำ 3-5% ของจีดีพี และดันให้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นปีละ 6-8%

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง จะทำให้หนี้สาธารณะไทยเสี่ยงแตะกรอบเพดานหนี้ที่ 70% ต่อจีดีพีภายในปี 70 ซึ่งนั่นหมายความว่าภาระการคลังจะเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีข้อจำกัดในการออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ มากขึ้นในอนาคต

นายนริศ กล่าวอีกว่าว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ต้องใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นจาก 61.7% หรือ 11 ล้านล้านบาท จะเกิน 65% ต่อจีดีพี จากเพดานหนี้สาธารณะ 70% ซึ่งการทำนโยบายอาจกระตุ้นการบริโภค แต่มีจุดต้องระวังเรื่องหนี้สาธารณะ เพราะนักลงทุนต่างชาติจับตามอง
          
ขณะที่เศรษฐกิจไทย ทีทีบี ได้ปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปี 66 ลงจาก 3.2% เป็น 2.8% และปี 67 จาก 3.6% เป็น 3.2% หลังแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ต่างประเทศมีความเปราะบางขึ้น โดยเฉพาะโมเมนตัมส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอ่อนแอ เช่นเดียวกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่แผ่วลงกว่าคาด

และเศรษฐกิจจีนที่อาจแผ่วกว่าที่คาด แรงกดดันด้านลบต่ออุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญต่อผลผลิตการเกษตร ตลอดจนความไม่แน่นอนด้านนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจหลังจัดตั้งรัฐบาล ล้วนเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป