หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)ให้กลับเข้าสู่อัตราปกติที่ 0.46%ต่อปีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 หลังจากปรับลดเหลือ 0.23% ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.50% เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 สู่ระดับ 2.50% เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในระบบทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ล่าสุด (24 ตุลาคม 2566) เงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่อัตรา 0.125-2.0% เงินฝากประจำ 3 เดือน 0.625-2.10% เงินฝากประจำ 6 เดือนอยู่ที่ 1.00-2.15% เงินฝากประจำ 12 เดือน อยู่ที่ 1.20-2.40% และเงินฝากประจำ 24 เดือน 1.30-2.45%
ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศพบว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) อยู่ที่ 7.9671% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) อยู่ที่ 7.6679%และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ 8.0500%
เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 10 แห่ง สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 พบว่า ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย (BBL) มีเงินรับฝากรวม 3.16 ล้านล้านบาท ลดลง 0.06% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 3.17 ล้านล้านบาทโดยเงินฝากออมทรัพย์มีสัดส่วน 52.7% ลดลงจาก 53.3% ในช่วงเดียวกันปีก่อน และเงินฝากประจำสัดส่วน 38.5% เพิ่มขึ้นจาก 37.7%
ทั้งนี้เงินรับฝาก 3.16 ล้านล้านบาทนั้นคิดเป็นสัดส่วน 71.3% ของแหล่งมีเงินทุนที่สำคัญของธนาคาร โดยธนาคารใช้เงินทุนในการให้สินเชื่อ 63.0%, เงินลงทุนสุทธิรวมสินทรัพย์ทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรม ผ่านกำไรหรือขาดทุน และเงินลงทุนในบริษัทร่วมคิดเป็น 21.4% และรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ 13.7%
ขณะที่อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 86.1% ต้นทุนทางการเงิน 1.66% ขยับเพิ่มขึ้น 0.70% จาก 0.96% อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 4.38% เพิ่มขึ้น 1.28% จาก 3.10%
ธนาคารกรุงไทยและบริษัทย่อย (KTB) เงินรับฝากเพิ่มขึ้น 0.37% เป็น 2.61 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนเงินฝากจ่ายคืนเมื่อทวงถาม และเงินฝากออมทรัพย์ต่อเงินฝากรวม หรือ CASA อยู่ในระดับ 80% และมีสัดส่วนเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ (หลังหักรายได้รอตัดบัญชี) ต่อเงินรับฝากเท่ากับ 100.72%
ทั้งนี้ เงินรับฝากมีสัดส่วน 72.0%ของแหล่งเงินทุนที่สำคัญของธนาคาร โดยธนาคารใช้เงินทุนในการให้สินเชื่อ 72.5%, รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ 15.6% อีก 7.6% ใช้เป็นเงินลงทุนสุทธิและเงินลงทุนในบริษัทร่วมสุทธิสำหรับอัตราต้นทุนทางการเงินขยับเป็น 1.22% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 0.72% แต่อัตราดอกเบี้ยรับจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ขยับเพิ่มขึ้น 1.12% มาอยู่ที่ระดับ 4.26%จาก 3.14%
ส่วนธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เงินรับฝากเพิ่ม 0.78% จำนวน 2.68 ล้านล้านบาทจาก 2.65 ล้านล้านบาทช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเงินฝากออมทรัพย์ปรับลดลง 3.0% แต่เงินฝากประจำ(น้อยกว่า 6เดือน, 6-11เดือนและ 12เดือนขึ้นไป) เพิ่มขึ้น 17.05%และผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ 3.62% ขยับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 3.26%
สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เงินรับฝากรวมเพิ่มขึ้น 0.5% เป็น 2.55 ล้านล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 2.53 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์ สัดส่วน CASA ลดลงจาก 81.3% เป็น 81.1% สัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากเฉพาะธนาคารเพิ่มจาก 91.5% เป็น 91.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยที่เงินรับฝาก 2.55 ล้านล้านบาทนั้น คิดเป็น 72.0%ของแหล่งเงินทุนที่สำคัญของธนาคาร
ขณะที่อัตราต้นทุนทางการเงินไตรมาส 3 ปีนี้ขยับจาก 0.72% เป็น 1.35% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและต้นทุนเงินฝากขยับเพิ่มขึ้นจาก 0.61% เป็น 1.10% ส่วนอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขยับเพิ่มขึ้นจาก 3.96% มาอยู่ที่ 4.87%
ในส่วนของธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) มีเงินรับฝากรวม 1.77 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.41%จาก 1.71 ล้านล้านล้านบาท สัดส่วนเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์และจ่ายคืนเมื่อทวงถามต่อเงินรับฝากทั้งหมดลดมาอยู่ที่ 57.8% อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากลดลงจาก 115% มาอยู่ที่ 114% และต้นทุนทางการเงินอยู่เพิ่มจาก 0.96% เพิ่มเป็น 1.66% ต้นทุนเงินรับฝากเพิ่มจาก 0.81% เป็น 1.55% อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์เพิ่มจาก 4.28% เป็น 5.16%
ด้านธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) มีเงินรับฝากรวม 1.37 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.30% โดยเงินฝากออมทรัพย์มีสัดส่วนลดลงจาก 34% เหลือ 32% แต่เงินฝากประจำมีสัดส่วนเพิ่มจาก 15%
เป็น 26% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ด้วยกลยุทธ์ในการบริหารต้นทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงไปยังแหล่งเงินทุนผ่านการออกตราสารหนี้และเงินกู้ยืม ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก เพิ่มจาก 101% เป็น 102% และการออกตราสารหนี้และเงินกู้ยืมเพิ่มจาก 96% เป็น 98%
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,935 วันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566