นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่าในระยะสั้นทองคำมีความผันผวนเคลื่อนไหวลักษณะดีดกลับสลับปรับตัวลง โดยโมเมนตัมจะเป็นบวกมากขึ้น หากการปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสามารถยืนเหนือโซน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ได้
ทั้งนี้ หากราคาทองคำดีดตัวทะลุโซน 2,070-2,079 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ได้ จะทำให้ทิศทางทองคำกลับมาเป็นขาขึ้นอีกรอบ เนื่องจากเป็นระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ใกล้เคียงกันถึง 3 ครั้ง แต่ถ้าไม่ผ่านระดับดังกล่าวมีโอกาสจะแกว่งตัวลงได้
ส่วนสถานการณ์ที่ต้องติดตาม คือ นโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แม้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะออกมาค่อนข้างดี ขณะเดียวกันทองคำในประเทศก็ได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมามีสัญญาณแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หากเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องก็จะทำให้ทองคำในประเทศแกว่งตัวลงเช่นกัน
ทั้งนี้ แนะนำให้นักลงทุนเก็งกำไรระยะสั้นตามรอบ และทยอยขายหากมีกำไร โดยมองกรอบแนวรับระยะสั้นที่ 1,956-1,974 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ แนวต้านที่ 2,027-2,048 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ และแนวต้านถัดไปที่ 2,079 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์
ส่วนทองคำในประเทศให้แนวรับที่ 32,650-32,950 บาทต่อบาททองคำ แนวต้านที่ 33,850-34,200 บาทต่อบาททองคำ และ 34,750 บาทต่อบาททองคำ (คำนวณด้วยค่าเงินบาท 35.25 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 23 พ.ย.2023 เวลา 10.30น.)
อย่างไรก็ตาม หากราคาทองคำยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง นักลงทุนสามารถใช้จังหวะทยอยสะสม โดยการแบ่งรอบในการซื้อ เนื่องจากปัจจุบันทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความหวั่นไหวด้านภูมิรัฐศาสตร์
โดยสะท้อนจากธนาคารกลางทั่วโลกที่สะสมทองคำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์และรองรับเทรนด์การลดการถือครองดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในไตรมาส 3/2566 สภาทองคำทั่วโลกได้รายงานว่าเข้าซื้อทองคำสูงสุดในรอบปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 5 ปีถึง 8%
ประเทศที่เข้าซื้อมากสุดคือ จีน โปแลนด์ สิงคโปร์ ลิเบีย และอินเดีย ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่สะสมทองคำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 3 ปีล่าสุด ไทยถือครองเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากจีน และเป็นอันดับ 11 ของโลก