นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้คนไทย โดยภาครัฐจะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ
ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินนโยบายดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ผ่านโครงการ “หนี้นอกบอก ธ.ก.ส.” พร้อมเสริมองค์ความรู้และศักยภาพในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและยืนได้อย่างมั่นคง และสงวนที่ดินไว้ไม่ให้ตกไปเป็นของผู้อื่น
“เพียงลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน www.baac.or.th และ Line Official Account: BAAC Family ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พร้อมกรอกข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็น ภาระหนี้สิน และช่องทางติดต่อกลับในระบบ”
สำหรับเงื่อนไข ผู้ที่ลงทะเบียนต้องเป็นเกษตรกรหรือบุคคลในครัวเรือน โดยหนี้ที่มีต้องเป็นหนี้สินที่เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน และเป็นผู้ที่สามารถสร้างหรือมีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ กรณีผู้ขอกู้อายุมากกว่า 60 ปี ต้องมีทายาทหรือบุคคลในครัวเรือนอย่างน้อย 1 คน เป็นลูกหนี้ร่วม
และหลังจากลงทะเบียนแล้วธนาคารจะติดต่อกลับตามช่องทางการติดต่อที่ได้ให้ไว้ เพื่อนัดหมายวันเวลาในการเข้าพบพูดคุยและให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงการเตรียมวงเงินสินเชื่อเบื้องต้นกว่า 1,000 ล้านบาท ภายใต้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบด้วยสินเชื่อเพื่อชำระหนี้สินนอกระบบ วงเงินสูงสุด ไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR + 3 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 10 ปี พิเศษไม่เกิน 12 ปี
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.) สนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน เพื่อสงวนรักษาที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก หรือใช้ที่ดินเป็นประกันหนี้และพัฒนาอาชีพ วงเงินสูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี หากผู้กู้ชำระหนี้ดีอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี อัตราดอกเบี้ยจะลดเหลือร้อยละ 4 ร้อยละ 3 และร้อยละ 2 ต่อปี ตามลำดับ ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี
“ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เกษตรกรลูกค้าและบุคคลในครัวเรือนให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบของ ธ.ก.ส. ไปแล้วกว่า 712,413 ราย เป็นเงินกว่า 60,274.34 ล้านบาท”