รื้อภาษีเหล้า-เบียร์ 1.7 แสนล้าน ล่อใจนักท่องเที่ยวกินดื่ม

03 ธ.ค. 2566 | 04:35 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2566 | 05:34 น.

คลังจ่อปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่ม ดึงนักท่องเที่ยวดื่ม-กิน เพิ่มรายได้ในประเทศ ยันไม่ลดภาษีแบรนด์เนมให้ซัพพลายเออร์ พร้อมยกเลิก Duty Free ขาเข้า ทอท.หวั่นกระทบส่วนแบ่งรายได้สัมปทานคิงเพาเวอร์

คณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน มติเห็นชอบหลักการมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ด้วยมาตรการภาษีและการเงินเพื่อสนับสนุนสินค้าไทยให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อในระหว่างการท่องเที่ยวและปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีประเภทอื่นๆ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวด้วย เพื่อทำให้ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น

 

  • รื้อโครงสร้างภาษีเครื่องดื่ม

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า มาตรการที่กระทรวงการคลังจะใช้สนับสนุนการท่องเที่ยวคือ การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องดื่มและการอุปโภคบริโภค โดยจะเร่งดำเนินการให้ทันเดือนมกราคม 2567 นี้ ซึ่งจะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวไทย โดยยืนยันว่า กระทรวงการคลังไม่ได้มีการพิจารณาลด หรือยกเว้นภาษีให้แก่ซัพพลายเออร์ที่นำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องสำอาง นํ้าหอม กระเป๋า แต่อย่างใด

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

“กรมสรรพสามิตได้ทำการบ้านเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีมาสักระยะแล้ว คาดว่า จะมีการเสนอครม.ในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ เพื่อออกเป็นกฎกระทรวงและออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ทันเดือนมกราคม 2567 โดยมาตรการที่จะออกมาจะเน้นสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาดื่ม กินในประเทศ แทนการช้อปปิ้ง ยืนยันว่า ไม่มีการสนับสนุนลดสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างแน่นอน”นายลวรณกล่าว

  • AOT-คิง เพาเวอร์ ยอมยกเลิกดิวตรีฟรีขาเข้า

ทั้งนี้วันที่ 1 ธันวาคม 2566 กระทรวงการคลังได้เรียกกรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต เข้ามาหารือถึงแนวทางที่จะเร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยในส่วนของกรมศุลกากร สามารถดำเนินการออกระเบียบยกเลิกการอนุญาตสินค้าทัณฑ์บน หรือการยกเลิก Duty Free ขาเข้าทุกสนามบินได้เลย เพื่อยกเลิกการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน ที่ขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้า

“หากมีการยกเลิกสัญญา Duty Free ขาเข้าแล้ว คาดว่า ไม่น่าจะมีปัญหา โดยกระทรวงการคลังได้มีการหารือในเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และบริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการซื้อสินค้าในประเทศ โดยกรมศุลกากร สามารถออกระเบียบยกเลิกการอนุญาตสินค้าทัณฑ์บนได้เลย” 

ภาษีเครื่องดิ่มที่จัดเก็บในปัจจุบัน

ด้านกรมสรรพสามิตนั้น จะมีการหารือถึงรายละเอียดการปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่ม ซึ่งมีทั้งที่มีแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ โดยจะดูในเรื่องสุราชุมชนด้วย เนื่องจากต้องการโปรโมทสินค้าแบรนด์ไทย เพราะนักท่องเที่ยวบางกลุ่มก็ต้องการบริโภคสินค้าพื้นบ้าน

ขณะเดียวกันเมื่อโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มเป็นอัตราที่เหมาะสม คนไทยก็จะได้ซื้อสินค้าเครื่องดื่มในราคาที่เหมาะสมด้วย โดยแพ็คเก็จของมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวนี้ จะทำให้บรรยากาศของประเทศไทย เป็นประเทศที่น่ามาท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่รัฐบาลใช้กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย 

“การยกเลิกสินค้าทัณฑ์บนนั้น จะมาช่วยสนับสนุนเรื่องการบริโภคภายในประเทศ โดยคลังจะมีการดูเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มด้วย ซึ่งแทนที่นักท่องเที่ยวจะซื้อสินค้าจาก Duty Free ขาเข้า เพื่อมาบริโภคในประเทศ เปลี่ยนมาบริโภคเหล้าไทยที่มีราคาถูกกว่า ยกตัวอย่าง เช่น นักท่องเที่ยว 1 คน มีสิทธิ์ซื้อเครื่องดื่ม 1 ลิตร จากร้านค้า Duty Free ขาเข้า แล้วนำมาดื่มในเข้าประเทศ เปลี่ยนเป็นมาซื้อเครื่องดื่ม ตามร้านค้าในประเทศซึ่งจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจด้วย” 

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2566 กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีสุรา ภาษีเบียร์ และภาษีเครื่องดื่ม 177,596 ล้านบาท แบ่งเป็นภาษีสุรา 64,168 ล้านบาท ภาษีเบียร์ 86,480 ล้านบาท ภาษีเครื่องดื่ม 26,948 ล้านบาท 

  • ค้าปลีกหนุนลดภาษีแบรนด์เนม

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า กระทรวงการคลังอาจปรับลดภาษีให้แก่ซัพพลายเออร์ที่นำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ เครื่องสำอาง นํ้าหอม กระเป๋า นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านค้าปลีกกล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับลดภาษีสินค้าลักชัวรี สิ่งที่ไทยจะได้มาคือ 1.นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามามากขึ้นและมียอดใช้จ่ายต่อหัวที่เพิ่มขึ้น 2. ดึงให้คนไทยที่นิยมบินไปซื้อสินค้าลักชัวรีต่างชาติให้มาซื้อในเมืองไทยและ3. ดึงให้สินค้าเกรย์ มาร์เก็ตจากใต้โต๊ะ ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ เสียภาษีถูกต้อง ทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น 

“วันนี้ไทยเองต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพราะหลายประเทศเดินหน้านโยบายปรับลดภาษีนำเข้าและภาษีศุลกากร เช่น เวียดนามเอง หลังทำ FTA กับสหภาพยุโรปก็ลดการจัดเก็บภาษีซึ่งในอนาคตอยากไทยไม่ลดการจัดเก็บภาษีก็จะเสียเปรียบประเทศอื่นๆ มากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ดี การลดภาษีสินค้าลักชัวรีแต่ละประเภทแตกต่างกัน ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่อัตราภาษี 0-10% แต่การปรับลดดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่รัฐบาลต้องการมากนัก เพราะจะส่งผลเฉพาะสินค้าลักชัวรีที่มีราคาสูง เมื่อลดภาษีแล้วเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน และคุ้มค่ากับการซื้อเมื่อเทียบกับต้องเดินทางไปซื้อในต่างประเทศ แต่หากเป็นสินค้าลักชัวรีระดับกลางที่ราคาไม่สูงมากนัก หากลดภาษีในหลักพัน หลักหมื่น อาจจะยังไม่จูงใจนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยให้เลือกซื้อได้ 

  • ชี้ลดภาษีสินค้าลักชัวรีได้จริงจะดีมาก

ด้านผู้บริหารระดับสูง อดีตผู้นำเข้าแบรนด์สินค้าหรูจากยุโรปกล่าวว่า หากรัฐบาลปรับลดภาษีสินค้าลักชัวรีได้จริงจะส่งผลดีมาก เพราะภาคเอกชนนำเสนอแนวคิดในการลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยมานานกว่า 10 ปี ที่ผ่านมาสินค้าลักชัวรีไทยต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงบางราย 5 - 40% บางรายมากกว่านั้น ทำให้แบรนด์เนมที่จำหน่ายในประเทศไทยราคาสูงกว่าประเทศอื่นๆ จนบางครั้งสูงที่สุดในเอเชียก็ว่าได้ ทำให้ไทยเสียเปรียบการค้า หากสามารถปรับลดภาษีได้ จะทำให้ราคาสินค้าตํ่าลงและสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้

“ที่ผ่านมาส่วนต่างราคาสินค้าแบรนด์เนมของไทยและเพื่อนบ้านจะห่างกันมาก เพิ่งมีการปรับลดในช่วงหลังๆ จากหลายๆ สาเหตุ แต่ไทยก็ยังเสียเปรียบเพราะภาษีที่สูงกว่า หากปรับลดภาษีได้จริง ช่องว่างเรื่องของราคาก็จะลดลง โอกาสการขายก็จะมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายประเทศยังเลือกที่จะไปท่องเที่ยวในสิงคโปร์ มาเลเซีย เพราะเขาได้เที่ยว ได้กิน ได้ช้อปปิ้งสินค้าที่ไม่มีภาษี” 

  • ทอท.หวั่นกระทบส่วนแบ่งรายได้

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวคิดการยกเลิกการขายดิวตี้ฟรี ขาเข้า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการศึกษาความเหมาะสม คงต้องรอผลการศึกษาอย่างรอบคอบก่อน เพราะตามข้อเท็จจริงแล้วการมีดิวตี้ฟรี ขาเข้า ใน 6 สนามบินของทอท. ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่เดินทางจากประเทศต้นทาง ที่เมื่อเดินทางเข้าไทย ก็อาจต้องการซื้อสินค้าก่อนเข้าประเทศ แทนที่จะซื้อมาจากประเทศต้นทาง ก็เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยด้วย

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

“หากว่ากันตามหลักการแล้ว การมีดิวตี้ฟรีขาเข้าก็ไม่ได้แข่งขันกับใครหรือทำลายหลักการภาษีแต่อย่างไร ซึ่งในสนามบินต่างๆ ทั่วโลกก็มีพื้นที่ดิวตี้ฟรีทั้งขาออกและขาเข้า แต่ถ้ารัฐบาลมองว่าการมีดิวตี้ฟรี ขาเข้า กระทบต่อธุรกิจค้าปลีก ก็มองได้ 2 แง่ เพราะถ้าเราไม่มีดิวตี้ฟรี ขาเข้าคนที่เดินทางก็จะไปซื้อสินค้าจากประเทศต้นทางแล้วหิ้วเข้ามาก็ได้ ผู้ประกอบการไทยก็จะไม่ได้อะไร และทอท.ก็จะมีส่วนแบ่งรายได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากคิงเพาเวอร์ในส่วนนี้ลดลงและยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับสนามบินอื่นที่เป็นสนามบินต้นทางหรือไม่ต้องเปรียบเทียบความคุ้มค่าให้รอบคอบ”นายกีรติกล่าว

อย่างไรก็ตาม สัญญาที่ทอท.มีกับคิงเพาเวอร์ในพื้นที่ดังกล่าว จะเป็นในลักษณะการคำนวณตามการเช่าพื้นที่  หากรัฐบาลพิจารณาให้ยกเลิกและทำดิวตี้ฟรีขาเข้าไม่ได้ ทอท.คงไม่สามารถปล่อยพื้นที่นี้ว่าง ก็คงต้องเจรจาต่อรองกับคิงเพาเวอร์ในการทำอีกสัญญาที่เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์แทนทำดิวตี้ฟรี ซึ่งก็แล้วแต่ว่า จะขายหรือให้บริการอะไรที่ไม่ใช่ดิวตี้ฟรี ซึ่งเฉพาะรายได้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาเข้า ก็ไม่ได้มากมายอะไรคิดเป็นสัดส่วนราว  5-10% เท่านั้นจากยอดขายดิวตี้ฟรีทั้งหมด

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด มีสัญญาสัมปานดิวตี้ฟรีรวมทั้งขาเข้าและขาออกใน 4 สัญญา ได้แก่

  • สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิ 10 ปี ตั้งแต่ก.ย.2563-มี.ค.2574 จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นตํ่าให้ทอท.เริ่มต้น 15,419ล้านบาทต่อปี
  • สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินภูมิภาค (เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่) 10 ปี ตั้งแต่ก.ย.2563-23 มี.ค.2574 จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นตํ่าให้ทอท. เริ่มต้น 2,331 ล้านบาทต่อปี
  • สัญญาดิวตี้ฟรี สนามบินดอนเมือง ระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565-31 มีนาคม 2576 จ่ายผลตอบแทนขั้นตํ่ารายปี ปีแรก 1.5 พันล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

สำหรับรายได้รวมในธุรกิจดิวตี้ฟรีของบริษัทคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ก่อนโควิด-19 มีรายได้รวมอยู่ที่ท 35,633 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,838 ล้านบาท

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,945 วันที่ 3 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566