คลังชงครม.พรุ่งนี้ แก้หนี้เอสเอ็มอี ปลดล็อก NPL สินเชื่อฉุกเฉินโควิด

11 ธ.ค. 2566 | 03:19 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2566 | 03:56 น.

คลังชงครม. 12 ธ.ค.นี้ แก้หนี้เอสเอ็มอี รหัส 21 กว่า 6 หมื่นคน พร้อมปลดล็อก NPL สินเชื่อฉุกเฉินโควิด รับเสี่ยงเกิด moral hazard

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 ธันวาคมนี้ กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอมาตรการพักหนี้เพิ่มเติม ในกลุ่มเอสเอ็มอี รหัส 21 และสินเชื่อสู้ภัยโควิด ที่ดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

สำหรับหนี้ในกลุ่มเอสเอ็มอี รหัส 21  จะดูแลส่วนที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งมีจำนวน 5-6 หมื่นล้านราย คิดเป็น 99.5% ของลูกหนี้ทั้งหมดเอสเอ็มอี รหัส 21 โดยจะมีการพักชำระหนี้วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย เป็นเวลา 1 ปี และลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นกรณีพิเศษ  

ขณะที่ลูกหนี้เอสเอ็มอี รหัส 21 ที่อยู่ในธนาคารพาณิชย์นั้น จะเป็นชุดมาตรการแก้หนี้ในระบบ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะแถลงในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ 

ส่วนสินเชื่อฉุกเฉินโควิด 10,000 บาทนั้น ปัจจุบันพบว่ามีลูกหนี้ที่เป็นที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แล้วกว่า 1 ล้านคน ซึ่งกลไกที่รัฐบาลช่วยนั้น ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อรัฐเพิ่มเติม เนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบ ในการกันวงเงินเพื่อชดเชยความเสียหาไว้แล้ว ที่ 50% ของวงเงินทั้งหมดที่ 30,000 ล้านบาท 

ฉะนั้น ก็จะนำเงินส่วนนี้มาชดเชยแทนลูกหนี้ที่เป็น NPL ไปแล้ว ซึ่งนอกจากจะช่วยแบงก์รัฐแล้ว  ยังเป็นการช่วยลูกหนี้กว่า 1 ล้านรายไม่ต้องติดสถานะเป็นลูกหนี้เสียด้วย

“มีลูกหนี้หลายคนเข้าใจผิดว่า สินเชื่อฉุกเฉินนั้นเป็นมาตรการแจกเงินช่วยเหลือของรัฐ ทำให้ตนเองกลายเป็นลูกหนี้ NPL โดยไม่คาดหมาย ดังนั้นรัฐจึงพยายามเข้าไปช่วยเพื่อให้กลับมาเป็นลูกหนี้สถานะปกติ และลูกหนี้กลุ่มนี้ก็ไม่ได้ต้องผ่อนคืนรัฐอีก” 

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า กรณีที่จะเกิดพฤติกรรมการไม่ใช้คืนหนี้ หรือ moral hazard นั้น ต้องยอมรับว่า การแก้หนี้ พักหนี้ทุกรูปแบบนั้น มีโอกาสเสี่ยงเกิด moral hazard ทั้งหมด แต่ประเด็นในวันนี้คือ รัฐบาลต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจ และดึงคนกลุ่มดังกล่าวกลับมาสามารถเดินหน้าประกอบอาชีพได้ 

ขณะที่คนที่ลูกหนี้ดีที่ผ่อนครบถ้วน ก็จะได้รางวัล ทางแบงก์รัฐที่เป็นเจ้าหนี้ ก็จะให้สิทธิพิเศษ อาทิ ลดดอกเบี้ยพิเศษ หรือเพิ่มวงเงินกู้ ในขณะเดียวกัน คนที่รัฐบาลช่วยมาจาก NPL ถึงแม้จะถูกช่วยจากรัฐบาลให้กลับมาปกติ แม้จะกลับมาขอสินเชื่อได้ แต่ก็ต้องถูกพิจารณาในเกณฑ์ของธนาคารตามปกติ ซึ่งอาจจะยากกว่าคนที่เคยผ่อนหมด