"วิทัย รัตนากร" CEO แห่งปี 66 กับบทบาท Social Bank  

28 ธ.ค. 2566 | 08:07 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2566 | 08:11 น.

"วิทัย รัตนากร" CEO แห่งปี 66 หลังปรับบทบาท ธนาคาร ออมสินสู่ธนาคารเพื่อสังคม ขยายฐานลูกค้าสู่ 3.5 ล้านคนในช่วง 3 ปีครึ่งจากเดิมที่มีเพียง 1.4 ล้านคน แถมยังสร้างกำไรได้สูงสุดในรอบ 111 ปี นำเงินส่งคลังทะลุ 6.4 หมื่นล้านบาท

ธนาคารออมสิน (Government Savings Bank) รัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง เป็นธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย เน้นการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบท พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย อีกทั้งยังสร้างเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่มชุมชน ผ่านโครงการธนาคารเพื่อประชาชน

ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน คนที่ 17 ของนายวิทัย รัตนากร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นายวิทัย ได้ประกาศวิสัยทัศน์ด้วยการปรับบทบาทธนาคารออมสินมุ่งสู่การเป็น “Social Bank” หรือ “ธนาคารเพื่อสังคม” เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยส่วนหนึ่งคือ ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน

ดังนั้นเป้าหมายหลังของธนาคารเพื่อสังคม เพื่อต้องการสร้างผลเชิงบวกแก่สังคม “Making POSITIVE Impact on Society” ด้วยการดูแลลูกค้าและประชาชน 3 กลุ่มหลักคือ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย และองค์กรชุมชน เพื่อสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ส่งผลให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ล้านคนเป็น 3.5 ล้านคน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ก้าวแรกของการเดินหน้าสู่ธนาคารเพื่อสังคมคือ การนำออมสินเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank อย่างเต็มตัว ด้วยการจับมือกับพันธมิตรจัดตั้ง บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด เพื่อเข้าไปแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยตํ่ากว่าตลาด โดยสามารถกดดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถหลงเหลือ 16-18% จากดอกเบี้ยในตลาดที่สูงถึง 28% ต่อปี

 

ภารกิจต่อมาคือ การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการออก “สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน” วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นตัวเลือกที่ยุติธรรมให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เป็น SMEs สามารถใช้โฉนดที่ดินมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการ หรือนำไปไถ่ถอนจากสัญญาขายฝากที่ทำไว้ 

หลังประสบความสำเร็จจาก “สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน” จึงเกิดแนวคิดร่วมมือกับพันธมิตรจัดตั้งบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด เพื่อเข้าแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อผลักดันให้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ ลดโครงสร้างดอกเบี้ยที่สูงเกินความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับประโยชน์จากสินเชื่อที่มีต้นทุนถูกลงและมีเงื่อนไขที่เป็นธรรม พร้อมช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบ 

หลังประกาศวิสัยทัศน์ธนาคารเพื่อสังคมตั้งแต่ปี 2563 จนถึงล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2566 ออมสินสามารถสร้างผลบวกต่อสังคม หรือ POSITIVE Impact on Society ด้วยการช่วยเหลือสังคมแล้ว 63 โครงการ ช่วยเหลือประชาชน 18 ล้านคน และสนับสนุนการให้สินเชื่อ 8.9 ล้านคน

\"วิทัย รัตนากร\" CEO แห่งปี 66 กับบทบาท Social Bank   

  • กลุ่มแรก คือฐานรากและรายย่อย สามารถช่วยคนทั้งที่เครดิตตํ่าและไม่มีเครดิตเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ 3.7 ล้านคน ช่วยคนเข้าถึงดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ผ่านสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซต์ 2.3 ล้านคน ช่วยคนไม่ให้เสียประวัติทางการเงิน ด้วยการผ่อนปรนบรรเทาภาระหนี้ มากกว่า4.7 ล้านคนและช่วยคนให้มีอาชีพ มีรายได้ ผ่านโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ มากกว่า3 แสนคน
  • กลุ่มถัดมา คือผู้ประกอบการ SMEs ที่ช่วยเติมทุนเสริมสภาพคล่อง เพื่อประคับประคองกิจการ 3.6 แสนล้านบาท ช่วย SMEs ที่มีที่ดินเข้าถึงแหล่งเงินทุน มากกว่า 26,000 ล้านบาท สนับสนุนธุรกิจที่สร้างความยั่งยืน ทั้งสินเชื่อ   BCG& Green Loan  มากกว่า 37,800 ล้านบาท
  • กลุ่มสุดท้าย คือ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดแล้ว สามารถช่วยพัฒนาชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง 3,600 ชุมชน ช่วยสร้างชุมชนยั่งยืน และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

แน่นอนว่า การช่วยเหลือสังคมเป็นเรื่องที่มีต้นทุนสูง แต่ออมสินยังสามารถสร้างความสมดุลในการดำเนินธุรกิจและการช่วยเหลือสังคมได้อย่างลงตัว ทำให้ในปี 2566 ออมสินมีกำไรกว่า 3 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารมา 111 ปี และยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถนำรายได้ส่งคลังในลำดับต้นๆ อีกด้วย โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สามารถนำกำไรส่งคลังได้ถึง 64,400 ล้านบาท และยังเป็นแหล่งเงินทุนให้ภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมากกว่า 1 ล้านล้านบาท 

ด้านความแข็งแกร่งทางการเงิน สิ้นปี 2566 ออมสินยังสามารถตั้งเงินสำรองส่วนเกิน 58,000 ล้านบาท และสำรองรวม 1.15 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสามารถควบคุมคุณภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับ 2.8% เทียบเคียงได้กับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อีกด้วย  

“ฐานเศรษฐกิจ” เล็งเห็นวิสัยทัศน์และผลงานที่โดดเด่นในการขับเคลื่อนองค์กร ภายใต้ภารกิจเพื่อสังคมจึงมีมติให้ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็น “สุดยอดผู้บริหารแห่งปี 2566 หรือ The Best CEO 2023” 

 นายวิทัยกล่าวถึงจุดยืนของออมสินว่า ภาพใหญ่ได้วางจุดยืนทางกลยุทธ์ของธนาคารใหม่ให้เป็นธนาคารเพื่อสังคม ปรับบทบาทจากการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) เป็น CSV (Creating Share Value)ให้การทำ 2 ธุรกิจควบคู่กันไป ด้วยการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่และมีกำไรสูง แล้วนำกำไรจากส่วนนั้น มาสนับสนุนธุรกิจเชิงสังคม ที่มีขนาดเล็ก แต่ช่วยคนได้จำนวนมาก ทำให้เกิดการบริหารจัดการองค์กร การบริหารจัดการความเสี่ยง การบริหารกำไร และการบริหารเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งเป็นการสร้างความสมดุลให้กับธนาคาร  

“การเปลี่ยนวิสัยทัศน์ไม่ได้ทำแค่ธุรกิจแบงก์เพียงอย่างเดียว แต่มีการทำธุรกิจใหม่ๆเช่น จำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ เราเข้าไปลดดอกเบี้ยในตลาด ทำให้กลุ่มคนเสี่ยงสูงเข้าถึงสภาพคล่องอย่างเป็นธรรม สินเชื่อที่ดิน ผ่านที่มีเงิน ก็ช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และต่อไป เราจะทำบริษัทบริหารหนี้เสีย หรือ AMC ของแบงก์รัฐ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันเราสูงขึ้น และการทำธุรกิจในหลายกลุ่มแบงก์ ก็ทำให้ช่วยคนได้มากขึ้น”นายวิทัยกล่าว

สำหรับ AMC เป็นแผนธุรกิจตามนโยบายของรัฐบาลที่ออมสินจะตั้งขึ้นมาคาดว่า จะเริ่มได้ในช่วงประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2567 ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยลูกหนี้กลุ่มที่เป็นรายย่อย NPL ให้กลับเข้ามาสู่สถานะปกติ และปี 2567

ออมสินยังมีแผนที่จะเดินหน้าธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ผ่านธุรกิจ Non Bank ซึ่งหวังว่า จะได้ใบอนุญาตภายในสิ้นเดือนมกราคม 2567 และพร้อมที่จะเดินหน้าทำธุรกิจสินเชื่อ Digital Lending ผ่านแอพพลิเคชัน เป็นตัวที่2 จากเดิมที่มีฐานลูกค้าที่อยู่ในแอปพลิเคชัน MyMo ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าแบงก์พาณิชย์ แต่ไม่ได้มีความเสี่ยงมากอยู่แล้ว 

“เดิมออมสินมีการจัดกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยง แต่อาจจะสูงกว่าแบงก์พาณิชย์ แต่ไม่ได้สูงมาก เมื่อความเสี่ยงสูงมาก เราก็ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยเราไปไม่ถึงส่วนนั้น แต่ตอนนี้ พอเราไปเล่นในตลาดใหม่ เราก็รับความเสี่ยงให้สูงขึ้น แม้ว่าเราจะลดดอกเบี้ยลงมา แต่สัดส่วนดอกเบี้ยยังสูงกว่าการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยปกติของออมสิน ที่ปัจจุบันปล่อยสูงสุดบางโครงการไม่เกิน 18% เราก็จะรับ NPL ได้สูงขึ้น และช่วยคนได้สูงขึ้น”นายวิทัยกล่าว 

สิ่งเหล่านี้ก็คือ CSV คือ การเอาสังคมเข้ามาใส่ ซึ่งเวลาใช้คำว่า “เอาคุณค่าของสังคมเข้ามาใส่” ก็จะฟังยาก แต่จริงๆ แล้วเป็นการเอา “ปัจจัยเรื่องสังคม” มาใส่เนื้อในการทำธุรกิจ โดยนำเอา Social Value เข้ามาใส่ใน Business Value สุดท้ายแล้ว ก็ต้องการทำให้เวลาที่ช่วยคน แม้ว่าเราช่วยคน ช่วยสังคม จะมีต้นทุนแล้ว ภาพรวมแบงก์มีกำไรและรายได้สูงขึ้น 

นายวิทัยยังได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับตำแหน่ง The Best CEO 2023 ว่า นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวบุคคลแล้ว ยังตอกยํ้าทำให้คนในองค์กร ทั้งคณะผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง และผู้ถือผลประโยชน์ร่วม หรือ stakeholder รอบข้าง ทำให้ทุกคนมั่นใจในสิ่งที่ออมสินทำอยู่ ร่วมผลักดันทำงานไปด้วยกัน และยังเปลี่ยนให้การช่วยคน การทำธุรกิจมีความแข็งแรง 

ด้วยผลงานที่โดดเด่นของ “วิทัย” ทำให้ได้นั่งเป็นแม่ทัพ “ธนาคารออมสิน” อีกวาระหนึ่ง ซึ่งนอกจากแผนธุรกิจที่ออมสินจะเดินในปีหน้าแล้วยังต้องติดตามต่อไปว่าภาพอีก 4 ปีข้างหน้า ธนาคารออมสิน จะเป็นพลังช่วยสังคม และลดความเหลื่อมลํ้าได้มากน้อยแค่ไหน

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,952 วันที่ 28 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566