นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในงานสัมมนา GO THAILAND 2024 : GREEN ECONOMY - LANDBRIDGE โอกาสทอง หัวข้อเรื่อง “Green Market Blue Ocean” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่า ภาพรวมธนาคารออมสินเราได้วางบทบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นธนาคารเพื่อสังคม (Social Bank) และเดินตามแนวทางของความยั่งยืน ซึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ส่วนหนึ่ง คือ ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ
เราจึงได้ปรับบทบาทของแบงก์ใหม่ จากเดิมที่เกือบเหมือนธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการทำงานด้านสังคมเป็นเรื่องภาพลักษณ์เป็นหลัก แต่ธนาคารได้เพิ่มการดูแลลูกค้า จากเดิมที่มีลูกค้ากลุ่มฐานลูกค้าเพียง 1.4 ล้านคน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 3.5 ล้านคน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
สำหรับสิ่งที่ธนาคารออมสินดำเนินการ ได้มีการทำธุรกิจแบ่งเป็น 2 ธุรกิจ ได้แก่ ข้างหนึ่งเป็นการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ปกติ ซึ่งดำเนินการเช่นเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารออมสินแบงก์แบงก์ที่มีขนาดใหญ่เทียบเคียงกับแบงก์พาณิชย์ 1 ใน 5 ของประเทศ
และอีกด้านหนึ่งออมสินได้นำเอากำไรจากดอกเบี้ยมาทำงานช่วยเหลือสังคม และสนับสนุนภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ธนาคารสามารถช่วยคนได้จำนวนมาก และทำให้ธนาคารมีกำไรเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
นายวิทัย กล่าวว่า ขณะนี้ออมสินก็ได้มีการเคลื่อนที่ไปที่ไปสู่แนวทาง Creating Shared Value (CSV) เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน และเป็นการโอกาสทางธุรกิจ โดยออมสินจะไม่มองว่าการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม จะไม่ได้เป็นเรื่อง CSR อีกต่อไป และเราจะไม่ดูว่าปีนี้มีงบให้งานสิ่งแวดล้อม เพื่อสังคมเท่าไหร่
แต่เราได้นำเอาคุณค่าที่ช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเข้าไปในเนื้อในของการทำธุรกิจ และสุดท้ายต้องช่วยคนและสิ่งแวดล้อมได้ เกิดเป็นบทบาทใหม่ของธนาคารและองค์กร ซึ่งสามารถขายของได้มากขึ้น และทำกำไรมากขึ้น ถือเป็นการทำ 2 เรื่องสอดรับเข้าไปด้วยกัน และท้ายที่สุดจะเกิดความยั่งยืน
ทั้งนี้ ยกตัวอย่าง เช่น สมัยก่อน ธุรกิจธนาคาร จะมีธนาคารรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจสมัยใหม่ มีทั้งธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และลีสซิ่ง เป็นต้น ทั้งหมดกินส่วนแบ่งทางการตลาด เพราะจัดอยู่ในกลุ่มฐานราก เราจึงเปลี่ยนแนวทางในการช่วยคน เช่น เราทำสินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ ลดดอกเบี้ย 10% จาก 28% เหลือ 18% มีคนใช้บริการ 2 ล้านคน จากผู้ใช้บริการ 5 ล้านคนทั้งตลาด และเราทำน็อนแบงก์ที่ช่วยคนจนมากขึ้น ก็เป็นธุรกิจใหม่ที่ทำให้มีกำไร
“ที่เราชี้ให้เห็น คือ เราสามารถขยายขอบเขตการทำธุรกิจ หรือลดต้น หรือปรับเปลี่ยนองค์กรทำให้สามารถช่วยสังคม สิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจริง และเกิดความยั่งยืน ซึ่งเรามีกำไรมากขึ้นด้วย โดยช่วงโควิดที่ผ่านมา ออมสินก็ทำทั้งหมดกว่า 63 โครงการ มีผู้เข้ามาใช้บริการ 18 ล้านคน”
นอกจากนี้ ปัจจุบันออมสินได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามนโยบายของรัฐบาล โดยออมสินช่วยเรื่องเรื่องหนี้ในระบบเป็นหลัก ได้แก่ ผู้ที่กู้ในช่วงโควิด ดึงคนเข้าสู่ระบบได้ 1.1 ล้านคน ขณะนั้นการปล่อยสินเชื่อไม่ตรวจเครดิตบูโร ไม่วิเคราะห์เกณฑ์รายได้ โดยส่วนหนึ่งช่วยดึงให้คนที่อยู่นอกระบบสามารถเข้าสู่ระบบได้ และอีกข้างหนึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย แต่ต่ำกว่าที่ประมาณที่คาดไว้ รัฐบาลจึงได้มีการยกหนี้ให้ และออมสินยังมีมาตรการ ไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด เป็นต้น
นายวิทัย กล่าวต่อว่า หากพูดถึง Net Zero ออมสินได้มีการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้องจัดการ 1.72 ล้านตัน ซึ่งมีมี 3 หลัก ได้แก่ การใช้น้ำมัน การใช้ไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของเรา เช่น การปล่อยสินเชื่อ แต่ลูกค้าเราไปปล่อยคาร์บอนต่อ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงไฟฟ้าทั้งหลาย ซึ่งออมสินวางเป้าหมายเป็น Net Zero ในปี 2050 ออมสินจึงวางเป้าหมาย 8 ปี จะต้องลดปริมาณคาร์บอนให้ได้ 50% โดยออมสินได้เริ่มเดินหน้าสำหรับสินเชื่อที่ธนาคารจะไม่ทำสินเชื่อด้วย ได้แก่ โรงไฟฟ้า ธุรกิจถ่านหินทั้งหลาย เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ออมสินได้สร้าง ESG Scores เพื่อประเมินลูกค้าด้วย ESG โดยน้ำหนักประมาณ 40% อยู่ที่ผลต่อสิ่งแวดล้อม หากออกมาได้คะแนนสูง 8-10 คะแนน ออมสินจะมีการลดดอกเบี้ยให้ หรือไม่เก็บค่าธรรมเนียม เราปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่วนคะแนนต่ำ 1- 0 ออมสินจะส่งทีมลงไปช่วยแก้ไขและปรับปรุงกิจการ เพื่อให้คะแนนดี
นอกจากนั้น หากเป็นธุรกิจที่ได้คะแนนสูงออมสินก็จะสนับสนุน เช่น กิจการที่เกี่ยวกับ BCG, กรีนไฟแนนซ์ซิ่ง และการออกบอนด์ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งออมสินได้ช่วยเป็นช่องทางโดยที่ไม่คิดค่าธรรมเนียม หากใครมีความสนใจออกบอนด์สามารถมาที่ออมสินได้ ธนาคารพร้อมสนับสนุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนส่วนนี้ และออมสินก็มีสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยด้วย
“การทำสิ่งเหล่านี้นอกจากช่วยเหลือสังคม ยังทำให้ออมสินมีกำไรด้วย ซึ่งปีนี้เป็นปีที่เรามีกำไรสูงสุดตั้งแต่เปิดธนาคารมา 111 ปี แม้มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยครึ่งปีหลังของปี 2565 ทั้งปี และใน 4 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ด้วย ฉะนั้น เมื่อทำ CSV ได้ ธุรกิจขยาย รายได้ก็ขยาย มาร์จิ้นอาจจะลดลงเล็กน้อย แต่ทำให้เกิดความยั่งยืน หากทำอย่างนี้ได้ ก็จะกลายเป็นเรื่องจริง”