สงครามความขัดแย้งทางความคิดระหว่างรัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ในฐานะกำกับดูแลเศรษฐกิจ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน กับนายเศรษฐพุฒ สุทธิวาทนฤพุฒิ เท่านั้น แต่ยังมีมาต่อเนื่องหลายรัฐบาล จนนำมาซึ่งการปลดออกจากตำแหน่งหรือลาออกเองก็หลายครั้ง
ความเห็นต่างระหว่าง “เศรษฐา ทวีสิน”นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้นำประเทศและ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้นำด้านเศรษฐกิจ ปะทุขึ้นอีกรอบ ครั้งนี้เป็นประเด็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย อย่างต่อเนื่องของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบ จนกระทบกับประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ครั้งแรกของการเห็นต่างระหว่างผู้นำทั้ง 2 คนมาจากการขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล ที่นายเศรษฐพุฒิ ออกมาท้วงติงว่า เงินดิจิทัล จะเป็นการขัดต่อพ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 หรือไม่ ขณะเดียวกันอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเงินฝืดและเงินเฟ้อได้ด้วยเช่นกัน
หรือแม้ในที่สุดรัฐบาลจะตัดสินใจออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพราะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต จำเป็นต้องกระตุ้น นายเศรษฐพุฒิ ยังเป็นคนเดิมที่สงวนสิทธิ์ไม่ออกความคิดเห็นในที่ประชุม พร้อมกับยืนยันอย่างต่อเนื่องว่า เศรษฐกิจไทยแม้จะเติบโตต่ำ แต่ก็ยังอยู่ในช่วงพื้นตัว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเติบโตได้ดี
ความขัดแย้งดังกล่าว นำมาซึ่งกระแสข่าวการปลดผู้ว่าการ ออกจากตำแหน่ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีบทเรียนในอดีตจากการแทรกแซงทางการเมือง ทำให้มีการปรับปรุงพ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ฉบับล่าสุดปี 2551 ตีกรอบป้องกันไว้ใน มาตรา 28/19 หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องการปลดผู้ว่าการ จะต้องพิสูจน์ให้ครม. เห็นว่า ผู้ว่าการ ธปท. มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งไม่รวมถึงความเห็นขัดแย้งเรื่องนโยบาย
อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไปในอดีต มีผู้ว่าการ แบงก์ชาติถึง 4 คนที่ถูกปลดจากตำแหน่งจากทั้งหมด 24 คน คนแรกคือ ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 6 นายโชติ คุณะเกษม ถูกปลดโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี กรณีนี้ไม่ใช่สาเหตุจากความขัดแย้งทางนโยบาย แต่เป็นข้อหาพัวพันกรณีจ้างฝรั่งพิมพ์ธนบัตร
คนต่อมา คือ นายนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ คนที่ 10 ถูกปลดในสมัยนายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีคลัง สาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องนโยบาย เช่น นโยบายคุ้มเข้มสินเชื่อและการเสนอตั้งสถาบันประกันเงินฝาก ซึ่งจังหวะนายนุกูลเข้ารับตำแหน่ง เป็นช่วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันแพง เงินเฟ้อสูง ทำให้แบงก์ชาติดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวด
คนที่ 3 คือนายกำจร สถิรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 11 ถูกปลดในสมัยนายประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีคลัง สาเหตุของการปลดครั้งนั้นมาจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยและการประกาศปรับลดค่าเงินบาทครั้งที่สอง
คนสุดท้ายคือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือที่นักข่าวเรียก “หม่อมเต่า” ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 16 ถูกปลดในสมัย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง สาเหตมาจากความขัดแย้งเชิงนโยบาย ตั้งแต่เรื่องค่าเงินบาท เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และเรื่องดอกเบี้ย
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,956 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2567