นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท.ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตั้งแต่การออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้วงกว้างแบบปูพรมในช่วงโควิด แล้วปรับเป็นมาตรการช่วยเหลือแบบเฉพาะจุดหลังสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น โดยยึดหลักการทำอย่างครบวงจร ถูกหลักการ
ขณะเดียวกัน ในไตรมาส 3 ปี 2566 ธปท.ได้ออกแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนที่บางส่วนมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ต้นปี เพื่อสานต่อการแก้หนี้ครัวเรือนผ่าน ทั้งมาตรการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีอยู่เดิม และมีมาตรการเพิ่มเติม
โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ Responsible Lending ซึ่งได้ยกระดับจากการขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ เป็นการกำหนดให้สถาบันการเงินต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้ได้ รวมถึงคุ้มครองสิทธิลูกหนี้
สำหรับสาระสำคัญที่จะช่วยให้การแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืนขึ้นคือ
1.ช่วยลูกหนี้ต่อเนื่องด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
2.ช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้
3. คุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การแก้หนี้ครัวเรือนมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ลูกหนี้จำเป็นต้องปรับตัว และสร้างวินัยทางการเงินเพิ่มขึ้น (responsible borrowing) เช่น รู้สิทธิและเงื่อนไขสำคัญของสินเชื่อก่อนกู้ เป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ชำระหนี้ตรงเวลา และเมื่อมีปัญหาชำระหนี้ให้รีบติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้