แนะลงทุนลดเสี่ยง ฝ่าภาวะเงินฝืด ดอกเบี้ยขาลง

26 ม.ค. 2567 | 08:29 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2567 | 08:29 น.

จิตตะ เวลธ์ แนะลงทุน “ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือ Investment Grade ทองคำและอสังหา” ในภาวะ “เงินฝืด” ฝ่าดอกเบี้ย “ขาลง” SCB CIO ชี้ความเสี่ยงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เตือนเลี่ยงลงทุน “หุ้นกู้ High Yield” จะครบไถ่ถอน

KEY

POINTS

  • อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับเพิ่มขึ้น หลังอัตราเงินเฟ้อที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง 
  • การลงทุนในภาวะเงินฝืด นอกจากเก็บเงินสดแล้วยังมีทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์บ้าง
  • แนะนำลงทุนในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เงินดอลลาร์ (FCD) สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงต่ำ 

อัตราเงินเฟ้อที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับเพิ่มขึ้น จากดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดของไทยที่ปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.50% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเดือนธันวาคม 2566 เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.58%  อยู่ที่ 1.92% และหากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ 0.83% อัตราดอกเบี้ยแท้จริงจะอยู่ที่ 3.33% และหากเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12เดือนที่ 1.20-2.65% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะอยู่ที่ 1.3% และติดลบ 0.15% 

นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) จิตตะ เวลธ์ จำกัดเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า โดยทฤษฎีแล้ว การลงทุนในภาวะเงินฝืด นอกจากจะเก็บเงินรูปเงินสดแล้วยังมีทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์บ้าง แต่ทั้งนี้ยังมีทางเลือกที่น่าสนใจอย่างตราสารหนี้หรือ พันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงยิ่งน่าสนใจ เพราะหากในอนาคต แนวโน้มดอกเบี้ยเข้าสู่ “ขาลง” ราคาของตราสารหนี้ที่เราถือไว้ ณ วันที่ดอกเบี้ยยังสูงอยู่ก็จะทำให้มูลค่าของตราสารเพิ่มขึ้นนั้นเอง

นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด

 

อีกข้อดีของการลงทุนในตราสารหนี้คือ ความมั่นคงและปลอดภัย แต่ขอย้ำว่าจะให้ปลอดภัยจริงควรเป็นตราสารหนี้ภาครัฐ หรือ Investment Grade เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนด้วย และหากเป็นการลงทุนระยะยาว การลงทุนในหุ้นก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะหุ้นที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างหุ้นในตลาดที่กำลังวิกฤติหรือร่วงลงแรง เช่นจีน หรือเวียดนาม เพราะราคาหุ้นยังอยู่ในระดับต่ำ และมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

แนะลงทุนลดเสี่ยง ฝ่าภาวะเงินฝืด ดอกเบี้ยขาลง

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมนั้น หากเป็นการลงทุนระยะยาวแล้ว วิธีการถัวเฉลี่ยเงินลงทุนถือเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ทุกสถานการณ์ เพราะการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งทำให้พอร์ตไม่ผันผวนและสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างเห็นได้ชัด

 

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ  แนะนำลงทุนในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เงินดอลลาร์ (FCD) หากอัตราแลกเปลี่ยนมีการปรับตัวถึงระดับเป้าหมายในระยะเวลาที่กำหนด จะมีการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ สรอ. กลับมาเป็นเงินบาทให้อัตโนมัติ พร้อมรับผลตอบแทน 

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางและต้องการลดความผันผวน แนะนำการลงทุนกองทุนรวมที่มีนโยบายปกป้องเงินลงทุน แต่ยังคงสร้างโอกาสในการให้ผลตอบแทนสูงกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป เช่น กองทุน Double Shark Fin ที่มีโครงสร้างปกป้องเงินลงทุน และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ทั้งขาขึ้นและขาลง ตามเงื่อนไขการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์อ้างอิง

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง แนะนำ ผลิตภัณฑ์ หุ้นกู้อนุพันธ์แฝง แบบ KIKO อายุ 6 เดือน จ่ายผลตอบแทนเป็นรายเดือน เมื่อครบกำหนดนักลงทุนมีโอกาสได้รับเงินลงทุนคืน ในรูปแบบเงินหรือหุ้นอ้างอิง ตามเงื่อนไขการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์อ้างอิง ผลตอบแทนประมาณ 15-25% ต่อปี สามารถใช้สินทรัพย์อ้างอิงทั้งหุ้นไทยและต่างประเทศ

หรือลงทุนหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง แบบ Bonus Equity Linked Note (BELN) อ้างอิงราคาหุ้นไทย อายุ 3 เดือน ที่มีมุมมองเคลื่อนไหวแบบ sideway up มีการจ่ายผลตอบแทน แบบ Bonus หากเข้าเงื่อนไข ผลตอบแทนประมาณ 10-25% ต่ออายุการลงทุน ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกรูปแบบการลงทุนได้ทั้ง แบบมีการป้องกันความเสี่ยง หรือ แบบไม่มีการป้องกันความเสี่ยง เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลง

โดยเฉพาะ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยควรให้น้ำหนักไปที่หุ้นกลุ่มที่มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด  และกลุ่มที่ทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจ และคาดว่านักลงทุนกลุ่มต่างๆมากขึ้นจะเป็นแรงซื้อหุ้นญี่ปุ่น  หรือหุ้นอินเดีย ที่ได้แรงหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับสูง และ ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ในช่วงการขยายตัว รวมทั้งรวมทั้ง ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย  เวียดนามและไทย

นอกจากนี้ ควรลงทุนสินทรัพย์ทางเลือกเน้นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง เลือกบริษัทที่มีงบดุลแข็งแกร่ง กำไรเติบโตสม่ำเสมอ รองรับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ รวมทั้งดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงESG โดยควรแบ่งเงินลงทุนในประเทศ และกระจายความเสี่ยงลงทุนในต่างประเทศด้วย

ส่วนสินทรัพย์ที่น่าสนใจ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งหุ้นกู้ Investment Grade ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนได้ดี จากความเสี่ยงขาลงที่ลดลง และควรมีสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน และทองคำ อยู่ในพอร์ตลงทุนไว้ด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 

สินทรัพย์ที่ควรหลีกเลี่ยงลงทุน คือ หุ้นกู้ High Yield ที่ส่วนต่างผลตอบแทนเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังต่ำเกินไป ขณะที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีหุ้นกู้ High Yield จะครบกำหนดไถ่ถอนและต้องระดมทุนใหม่มาชำระคืนหนี้เดิม ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากขึ้นในปี 2567 ต่อเนื่องไปถึงปี 2568

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,961 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2567