นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันพุธ (20 มี.ค.) โดยกล่าวว่า ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งจะไม่เป็นปัจจัยขัดขวางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด และยังกล่าวด้วยว่า แม้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐจะออกมาสูงเกินคาดเมื่อไม่นานมานี้ แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของเฟดที่ว่า เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ในการประชุมครั้งล่าสุดนี้ (19-20 มี.ค.) คณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ตามคาด ส่วนในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) นั้น เจ้าหน้าที่เฟดยังคงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจำนวน 3 ครั้งในปี 2567 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณในการประชุมเมื่อเดือนธ.ค. 2566
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานอ้างอิงถ้อยแถลงของนายพาวเวลล์ว่า เขายังคงรอดูข้อมูลที่จะสามารถยืนยันได้ว่าเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% แม้ตัวเลขเงินเฟ้อที่มีการเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้จะอยู่ในระดับสูงขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ ยังส่งสัญญาณว่า ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งจะไม่เป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดลังเลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
"การจ้างงานที่แข็งแกร่งจะไม่เป็นปัจจัยขัดขวางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด และโดยพื้นฐานแล้ว ตลาดแรงงานไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ" นายพาวเวลล์กล่าว
นอกจากนี้ ประธานเฟดยังระบุว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดยังคงมีความตั้งใจที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
"เราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ในระดับสูงสุดแล้วสำหรับวงจรนี้ และหากเศรษฐกิจมีพัฒนาการตามที่เราคาดการณ์ไว้เป็นวงกว้าง ก็น่าจะเป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้" นายพาวเวลล์กล่าว พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่า เฟดจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2%
โดยในกรณีที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ปรับตัวขึ้นทั้งในเดือนม.ค.และเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ประธานเฟดกล่าวว่า
"ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของเฟดที่ว่า เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้เส้นทางที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวจะไม่ราบรื่นนักก็ตาม”
และต่อไปนี้เป็น แถลงการณ์ประชุมธนาคารกลางสหรัฐเดือนมี.ค. 2567 แบบคำต่อคำ
แถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟด ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 20 มี.ค.ตามเวลาสหรัฐ ระบุว่า
ข้อมูลที่เฟดได้รับเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่ง ขณะที่การจ้างงานก็ยังคงมีความแข็งแกร่ง และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงในปีที่แล้ว แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง
คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว โดยคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าความเสี่ยงที่จะมีผลต่อการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานและเงินเฟ้อนั้น กำลังอยู่ในทิศทางที่มีความสมดุลมากขึ้น ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน และคณะกรรมการยังคงให้ความสนใจกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ส่วนในการพิจารณาเรื่องการปรับช่วงเป้าหมายของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นนั้น คณะกรรมการจะใช้ความระมัดระวังในการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า รวมทั้งแนวโน้มของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และสมดุลของความเสี่ยง คณะกรรมการมองว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น จนกว่าจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve's Balance Sheet) ซึ่งมีการประกาศในช่วงก่อนหน้านี้ โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการฯ จะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ จะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการฯ โดยคณะกรรมการฯ จะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ
สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวลล์ ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, โธมัส ไอ บาร์กิน, ไมเคิล เอส บาร์, ราฟาเอล ดับเบิลยู บอสติก, มิเชล ดับเบิลยู โบว์แมน, ลิซา ดี คุก, แมรี ซี ดาลี, ฟิลิป เอ็น เจฟเฟอร์สัน, เอเดรียนา ดี คุกเลอร์, ลอเร็ตตา เจ เมสเตอร์ และ และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์