ศูนย์วิจัยกสิกรฯ สรุปค่าเงินบาท "อ่อนค่าสุด" รอบ 5 เดือน

24 มี.ค. 2567 | 04:32 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2567 | 04:40 น.

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" สรุปเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 เดือน ที่ 36.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ สัปดาห์หน้าเกาะติด 3  ปัจจัย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตัวเลขส่งออก รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.พ. ของไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท 18-22 มีนาคม 2567 เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 เดือนที่ 36.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับภาพรวมการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯได้แรงหนุนในช่วงก่อนการประชุมเฟด ซึ่งถูกคาดหมายว่าอาจมีการปรับทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจและมุมมองต่อทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

นอกจากนี้เงินบาทยังอ่อนค่าลงตามค่าเงินเยนหลังผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกมาสอดคล้องกับที่ตลาดคาด(ทั้งในส่วนของการปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้นมาที่กรอบ 0.0-0.1% การยุติ Yield Curve Control และการยกเลิกการเข้าซื้อ ETFs และ J-REITs)

ขณะที่สัญญาณจากผู้ว่าการ BOJ สะท้อนว่า BOJจะยังไม่ปรับท่าทีไปในเชิงคุมเข้มทันทีในระยะเวลาอันใกล้นี้

เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ

หลังผลการประชุมเฟดซึ่งแม้เฟดจะมีการปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ตามคาดแต่มุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายผ่าน Dot plot ยังคงสะท้อนโอกาสของการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งไว้ตามเดิม

อย่างไรก็ดีเงินบาทกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินของของธนาคารกลางอื่นๆ อาทิ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ที่ปรับลดดอกเบี้ยเหนือการคาดการณ์ของตลาดและธนาคารกลางอังกฤษที่ส่งสัญญาณว่าอาจมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

 

ค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป 25-29 มี.ค.

ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.00-36.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตัวเลขการส่งออกและรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.พ. ของไทย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคา PCE และ Core PCE เดือนก.พ. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 (final)

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.-ก.พ. ของจีนและตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 ของอังกฤษด้วยเช่นกัน

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกร