"กรุงไทย"ลดดอกเบี้ยเงินกู้ "MRR MLR MOR" 0.25% ช่วยกลุ่มเปราะบาง 3 แสนบัญชี

29 เม.ย. 2567 | 12:39 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2567 | 12:51 น.

"กรุงไทย"ขานรับมาตรการภาครัฐ ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR MLR และ MOR 0.25% ช่วยลดภาระการเงิน ให้ลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SME รายย่อย รวมกว่า 3 แสนบัญชี มีผล 16 พ.ค.นี้

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยพร้อมสนับสนุนแนวนโยบายของภาครัฐในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ตามแนวทางของสมาคมธนาคารไทยในการลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและผู้ประกอบการ SME รายย่อย และแนวทางการแก้อย่างหนี้ยั่งยืนและการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย  

 

\"กรุงไทย\"ลดดอกเบี้ยเงินกู้ \"MRR MLR MOR\" 0.25% ช่วยกลุ่มเปราะบาง 3 แสนบัญชี

ธนาคารจึงมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR MLR และ MOR 0.25% ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 พฤศจิกายน 2567 ให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่

  • 1. ลูกค้าสินเชื่อบุคคลรายย่อยที่ยังอยู่ในมาตรการความช่วยเหลือของธนาคารฯ ทั้งสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคล
  •  2.ลูกค้าสินเชื่อบ้านที่มีวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท และ
  • 3. ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SME รายย่อยที่มีรายได้กิจการต่อเดือนไม่เกิน 2 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท
     

ทั้งนี้ จากมาตรการดังกล่าว ธนาคารสามารถช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าได้มากกว่า  3 แสนบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้อัตโนมัติสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางทั้ง 3 กลุ่มที่มียอดสินเชื่อกับธนาคาร ณ 31 มีนาคม 2567 โดยลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน หรือติดต่อธนาคารแต่อย่างใด
 
“ธนาคารเล็งเห็นความเดือดร้อนของลูกค้ากลุ่มเปราะบางทุกกลุ่ม จึงมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมออกมาในครั้งนี้ จากก่อนหน้านี้ ธนาคารได้ออกมาตรการอื่นๆ เช่น มาตรการ “สินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน”  เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มข้าราชการลดภาระทางการเงิน โดยมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางครั้งนี้ ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจ ให้มีโอกาสฟื้นตัว ปรับตัว  ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่มีทั้งมาตรการระยะสั้นรองรับการเปลี่ยนผ่าน และมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและการสร้างรายได้ที่พอเพียงและยั่งยืน”