สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์รายงานตัวเลขภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2567 พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ขยายตัว 1.5% สูงกว่าที่ตลาดคาดว่า จะขยายตัว เพียง 0.7-0.8% แต่ชะลอลงเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้การผลิตนอกภาคเกษตรจะขยายตัวจากบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่ภาคการเกษตรลดลง 3.5% และหมวดอุตสาหกรรมลดลง 3% รวมถึงการใช้จ่ายรัฐบาลลดลง 2.1% และการลงทุนรวมลดลง 4.2%
โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ลดลงถึง 27.7% ซึ่งเป็นอำนาจที่ภาครัฐสามารถที่จะบริหารจัดการให้มีเม็ดเงินลงในระบบเศรษฐกิจได้ ในภาวะที่ปัจจัยอื่นๆได้รับผลกระทบจากปัจจัยโลกอย่างการส่งออก แม้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่รัฐบาลยังมีงบลงทุนในงบเหลื่อมปีของปีงบประมาณ 2566 จำนวน 158,548 ล้านบาท ที่สามารถเร่งการเบิกจ่ายได้
นางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลางเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลการเบิกจ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีของปีงบประมาณ 66 ณ วันที่ 26 เมษายน 67 มีการเบิกจ่ายแล้ว 96,427 ล้านบาทคิดเป็น 60.82% จากกรอบวงเงินทั้งหมด 158,548 ล้านบาท ซึ่งคงเหลือไม่เบิกจ่าย 62,121 ล้านบาท คิดเป็น 39.18% ซึ่งหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานผู้เบิกแทนสามารถเบิกจ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาเบิกจ่ายออกไปจากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 ได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
“สัดส่วนการเบิกจ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่ทำได้ 60.82% นี้ ถือว่าเป็นสถานการณ์ปกติ เนื่องจากการเบิกจ่ายส่วนใหญ่เป็นการเบิกตามงวดงาน หากงวดงานยังไม่เป้าหมายถึงส่วนราชการก็จะไม่สามารถเบิกจ่ายได้” นางสาวทิวาพร กล่าว
ทั้งนี้ การเบิกจ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี หากหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานผู้เบิกเงินแทนไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันระยะเวลาที่กำหนด วงเงินก็จะโดนพับไป ซึ่งที่ผ่านมา การเบิกจ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีมีการเบิกจ่ายเฉลี่ยปีละ 70-80% เนื่องจากบางโครงการเบิกจ่ายไม่ทัน เพราะงวดงานของบางโครงการล้ำไปในปีถัดไป จึงทำให้งบประมาณโดนพับไป และอีกส่วนหนึ่ง มาจากเงินเหลือจากบางโครงการที่ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีวงเงินเหลืออยู่
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การเบิกจ่ายที่ล่าช้า มีผลต่อการช่วยส่งเม็ดเงินหมุนเวียนลงระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากหากมีการเบิกจ่ายช้า เงินที่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจก็จะมีสัดส่วนน้อย ฉะนั้น ส่วนราชการจึงให้ความสำคัญกับเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีเป็นอย่างมาก และลำดับถัดไปจึงจะให้ความสำคัญกับงบประมาณปีปัจจุบัน เพราะเวลาของเงินกันเหลือน้อยกว่างบปีปัจจุบัน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบ 228,803 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณอยู่ที่ 26.42% จากแผนที่วางไว้ 27.53% คาดว่า ภายในระยะเวลา 5 เดือนของการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทุกหน่วยงานจะสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลและกระทรวงฯ ตั้งไว้ 100% ภายในเดือนกันยายนนี้
“ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานวางแผนการดำเนินงาน เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากกว่า 70% จากงบประมาณทั้งหมด” นายสุริยะกล่าว
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง(ทล.)กล่าวว่า ปัจจุบันกรมฯ เบิกจ่ายงบสะสมมากกว่า 96% คิดเป็น 29,121.39 ล้านบาท จากแผน 30,245.37 ล้านบาท โดยตั้งเป้าภาพรวมเบิกจ่ายในเดือนพฤษภาคมนี้อยู่ที่ 10,748 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 3,629 ล้านบาท และรายจ่ายงบลงทุน 10,308 ล้านบาท ซึ่งจะได้ผู้รับจ้างครบตามแผนภายในเดือนมิถุนายน คาดว่าภาพรวมเบิกจ่ายในเดือนกันยายน 67 อยู่ที่ 41,124 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 5,388 ล้านบาท และรายจ่ายงบลงทุน 40,684 ล้านบาท
สำหรับโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมที่เร่งรัดดำเนินการภายในปีงบประมาณ 67 เช่น
นางสาวลิซ่า งามตระกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวว่า เอกชนได้หารือกับทางสมาคมฯถึงการเบิกจ่ายงบปี 67 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันยังไม่ค่อยมีการประมูลโครงการฯมากนัก เนื่องจากเพิ่งได้รับการอนุมัติงบประมาณเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้โครงการต่างๆ เพิ่งเริ่มดำเนินการประมูล
ทั้งนี้จากการหารือกับเอกชนส่วนใหญ่มักกังวลเรื่องการจ่ายค่าแรง 400 บาท จากเดิมมีการจ่ายเงินล่าช้าอยู่แล้ว รวมทั้งการจ่ายค่าเคที่ยังไม่ได้รับจากหลายหน่วยงาน ซึ่งสมาคมฯไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ควรเป็นไปตามกลไกไตรภาคีและตามกฎหมาย
สำหรับการเบิกจ่ายค่าเค ซึ่งเป็นงานเก่าของโครงการต่างๆ ที่มีการค้างเบิกจ่ายก่อนปีงบ 67 แล้ว ปัจจุบันเอกชนอยู่ระหว่างการคำนวณค่าเคของงบปี 67 เพราะเพิ่งเริ่มกระบวนการเปิดประมูล พบว่า ภาครัฐมีการค้างเบิกจ่ายค่าเคหลายพันล้านบาท
“สมาคมฯ ขอให้ภาครัฐเพิ่มแคชโฟลว์มากขึ้นเพื่อช่วยเหลือเอกชน เพราะจากตัวเลขจีดีพีของสภาพัฒน์พบว่า ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ติดลบเยอะมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่เพิ่งอนุมัติ อีกทั้งยังพบว่ามีเอกชนหลายรายมีสถานการณ์ทางบริษัทไม่ค่อยดีและมีแนวโน้มที่จะปิดกิจการลง” นางสาวลิซ่ากล่าว
ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)หรือ วิจัยกรุงศรีกล่าวว่า การท่องเที่ยวจะยังเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการวีซ่าฟรีแก่นักท่องเที่ยวสำคัญหลายประเทศ อาทิ จีน รัสเซีย และอินเดีย ซึ่งวิจัยกรุงศรีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 จะอยู่ที่ 35.6 ล้านคน คิดเป็น 89% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาดว่า จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวซึ่งจะช่วยหนุนให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านราคาพลังงานที่ช่วยพยุงกำลังซื้อในกลุ่มเปราะบาง แต่การบริโภคในบางกลุ่มยังมีแรงกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ขณะที่เครื่องยนต์การลงทุนภาครัฐคาดว่า จะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี หลังจากในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบฯ 2567 มีการเบิกจ่ายงบลงทุนเพียง 1.16 แสนล้านบาท เทียบกับงบฯทั้งปีที่ตั้งไว้กว่า 7 แสนล้านบาท ดังนั้น ในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีงบฯ คาดว่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายสูงขึ้น และจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนเติบโต (Crowding-in effect) ในระยะถัดไป
ด้านการลงทุนภาคเอกชนยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกยังคงอ่อนแอ เนื่องจากการส่งออกของไทยในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่ำและกระจุกตัวในสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มน้อย (Low value-added products) รวมทั้งยังเผชิญปัจจัยลบจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต และความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
“จากทิศทางข้างต้นจะเห็นได้ว่า แต่ละเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกำลังได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยเชิงวัฏจักร (Cyclical factors) ทั้งจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว การจ้างงาน และความต้องการจากตลาดโลก ในส่วนของวิจัยกรุงศรีจะพิจารณาปรับประมาณการจีดีพีอีกครั้ง หลังจากเห็นตัวเลขจริงจากสศช.แล้ว"
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยประกอบด้วย
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,994 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567