“รัฐวิสาหกิจ” เบิกจ่ายงบลงทุนครึ่งปีแรกทะลุ 7 หมื่นล้านบาท

02 พ.ค. 2567 | 07:17 น.

สคร. รายงานรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนครึ่งปีงบประมาณ 67 พุ่ง 7 หมื่นล้านบาท พร้อมกำกับติดตามใกล้ชิด ให้เป็นไปตามเป้าหมายกรอบลงทุน

นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า รัฐวิสาหกิจที่ สคร. กำกับดูแลโดยตรงและมีการเบิกจ่ายงบลงทุนมีจำนวน 43 แห่ง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  • รัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีบัญชีตามปีงบประมาณ (รัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ)
  • รัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีบัญชีตามปีปฏิทิน (รัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน)

นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

โดยในปี 2567 รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายงบลงทุนจนถึงเดือนมีนาคม 2567 จำนวน 77,289 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 113 ของแผนการเบิกจ่าย

ทั้งนี้ ประกอบด้วย

  • การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 - เดือนมีนาคม 2567) 34 แห่ง จำนวน 52,794 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 107 ของแผนการเบิกจ่าย
  • รัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน (เดือนมกราคม 2567 - เดือนมีนาคม 2567) 9 แห่ง จำนวน 24,495 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 131 ของแผนการเบิกจ่าย

สำหรับรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณที่เบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของแผนการเบิกจ่ายและมีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่

  • การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
  • การประปานครหลวง

ขณะที่รัฐวิสาหกิจปีปฏิทินที่เบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของแผนการเบิกจ่ายและมีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่

  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

“การเบิกจ่ายงบลงทุนครึ่งปีงบประมาณ 2567 (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567) โดยเป็นผลการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 6 เดือน คิดเป็นร้อยละ 45 ของกรอบงบลงทุนทั้งปี และผลการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 20 ของกรอบงบลงทุนทั้งปี โดยรัฐวิสาหกิจได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน ทำให้ในภาพรวมมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนกว่า 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32 ของกรอบงบลงทุน”

ทั้งนี้ สคร. จะกำกับติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย และเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญสามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน อาทิ

  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะของ รฟม.
  • โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ของ รฟท.
  • โครงการทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)