เตือนลงทุนหุ้นกู้ หลังผลตอบแทนลด Credit Spread เพิ่ม

03 ก.ค. 2567 | 11:13 น.

ไทยพาณิชย์คาด หุ้นกู้ออกใหม่ครึ่งหลังปี 67 รวม 4.37 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ยังเป็น Investment Grade ลงทุนได้ แต่ต้องคัดเลือกให้ดี หลังสัญญาณผลตอบแทนลด Credit Spread บางช่วงอายุเพิ่ม สะท้อนความเสี่ยงสูงขึ้น ห่วงผิดนัด/เลื่อนจ่ายหนี้

นายรุ่งโรจน์ เสกสรรค์วิริยะ ผู้อำนวยการ Investment Product Selection and Partnership ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการออกหุ้นกู้ใหม่ในครึ่งหลังปี 2567 (ก.ค.-ธ.ค.) จะสอดคล้องกับปริมาณหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนช่วงครึ่งหลังปีนี้ ที่มีมูลค่ารวม 437,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 390,000 ล้านบาท และอาจมีบริษัทต่างๆ ที่จำเป็นหาแหล่งเงินทุน เลือกออกหุ้นกู้แทนการขอกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมด้วย 

เตือนลงทุนหุ้นกู้  หลังผลตอบแทนลด Credit Spread เพิ่ม

ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในครึ่งหลังปี 2567 ส่วนใหญ่มีอันดับเครดิต (Credit Rating) อยู่ในระดับที่ลงทุนได้ หรือ Investment Grade ขึ้นไป คิดเป็น 86% โดยจะพบว่า 5 อันดับอุตสาหกรรมที่คาดว่า จะออกหุ้นกู้สูงสุด ได้แก่ การเงิน, อสังหาริมทรัพย์, พลังงาน, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และวัสดุก่อสร้าง

 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) พบว่า การออกหุ้นกู้ใหม่ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงกว่า 21.68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและการคาดการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน 

“ช่วงที่ผ่านมา เริ่มเห็นการปรับลดอันดับเครดิตและเลื่อนชำระคืนหนี้หุ้นกู้มากขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องที่ตึงตัว ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น และปัญหาการหาแหล่งเงินทุนใหม่ ทำให้นักลงทุนมีความกังวลกับการเข้าลงทุนในหุ้นกู้ โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับ (Non Rate) หรือที่มีระดับเครดิตต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (Non Investment Grade) ส่งผลให้หลายบริษัทขายหุ้นกู้ได้ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ และยังเห็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในบางอุตสาหกรรม เช่น ปิโตรเคมี และอสังหาริมทรัพย์ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการคัดเลือกหุ้นกู้ที่จะลงทุน” นายรุ่งโรจน์กล่าว

หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในครึ่งหลังปี 2567

ด้านอัตราผลตอบแทน (Return) จากการลงทุนพบว่า การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลตั้งแต่ต้นปีจนถึง วันที่ 31 พ.ค. 2567 เมื่อวัดจากดัชนีผลตอบแทนพันธบัตรสุทธิ อยู่ที่ +0.67% ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนตั้งแต่ต้นปี เมื่อวัดจากดัชนีผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน อยู่ที่ +1.37% 

ขณะที่ส่วนต่างผลตอบแทนของพันธบัตรเอกชน ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีค่าลดลงเป็นส่วนใหญ่ในเกือบทุกช่วงอายุของ Credit Rating ยกเว้นในระดับ BBB+ และ BBB ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างผลตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในตลาดหุ้นกู้ 

เมื่อพิจารณาจากส่วนต่างของผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนกับพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือใกล้เคียงกัน (Credit Spread Curve) เป็นรายอุตสาหกรรม จะเห็นว่า มีส่วนชดเชยความเสี่ยงที่มีแนวโน้มลดลงในเกือบทุกอุตสาหกรรมและเกือบทุกช่วงอายุ ยกเว้นในอุตสาหกรรม Industrial 4.37% และ Technology 1.84%ในช่วงอายุไม่เกิน 2 ปี ที่มีการเพิ่มขึ้นของค่า Credit Spread เพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่สูงขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เหล่านี้ 

ขณะที่สัดส่วนผู้ซื้อหุ้นกู้ยังคงเป็นไปตามแนวโน้มเดิม โดยผู้ซื้อหุ้นกู้ที่เป็นสถาบัน 62% และรายย่อยอยู่ที่ 38% โดยสิ้นปี2566 มีนักลงทุนสถาบันเป็นผู้ถือหุ้นหลักประมาณ 61% แต่ในส่วนของนักลงทุนรายย่อยก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเห็นได้จากสัดส่วนขยับเป็น 39% 

“ภาพรวมตลาดหุ้นกู้ครึ่งปีหลังนั้น ปัจจัยบวกที่มีผลต่อตลาดหุ้นกู้ คือ การปรับตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในบางอุตสาหกรรม เช่น การท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่อาจมีปัจจัยลบ จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และความไม่แน่นอนทางการเมือง” นายรุ่งโรจน์ กล่าว 

สำหรับมูลค่าหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในครึ่งปีหลังมีความสำคัญ เนื่องจากต้องประเมินการ Refinance และการออกหุ้นกู้ใหม่ ทั้งนี้ ยังคงคาดว่า หุ้นกู้ที่จะออกขายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะยังคงเป็น Investment Grade เป็นส่วนใหญ่ และกระจุกตัวอยู่ใน อุตสาหกรรมหลักๆ ได้แก่ กลุ่มการเงิน, อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน 

ทั้งนี้ สัญญาณที่อาจเกิดการผิดนัดชำระหรือเลื่อนการชำระหนี้ เป็นเรื่องที่น่ากังวลในบางกลุ่ม เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากสภาวะตลาดที่ไม่แน่นอน และด้วยภาวะดอกเบี้ยสูงเป็นเวลานาน ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน ของบริษัทที่เพิ่มขึ้น รวมถึง ผู้ซื้อรายย่อยของโครงการอสังหาฯ ที่ต้องกู้ยืมสินเชื่อจากธนาคาร จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กระทบยอดขายของโครงการ อสังหาฯ และหากบริษัทที่สภาพคล่องน้อย หรือ มีเงินกู้สูง ก็จะมีความจำกัดในการแบกรับต้นทุนทางการเงินนี้ ผู้ลงทุนจึงต้องติดตามการชำระคืนหนี้ และ Refinance อย่างใกล้ชิดต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนในไทย ส่วนใหญ่ยังคงมีคุณภาพเครดิตดี สามารถเข้าลงทุนได้ แต่ต้องคัดเลือกบริษัทที่มีอันดับเครดิตอยู่ในกลุ่ม Investment Grade ขึ้นไป มีความสามารถในการชำระหนี้อย่างเหมาะสมและมีระดับหนี้ที่ต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการแบกรับต้นทุนการเงินที่สูงในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลของบริษัทและผู้บริหารมากขึ้น 

ขณะเดียวกัน นักลงทุนควรติดตามปัจจัยทางการเมือง นโยบายจากภาครัฐ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกและในประเทศ เพราะเป็นตัวแปรที่สำคัญในการประเมินการลงทุนในหุ้นกู้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,006 วันที่ 4 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2567