รายได้ดอกเบี้ยพุ่ง 9.3% หนุนกำไรแบงก์ 1.26 แสนล้าน

27 ก.ค. 2567 | 01:08 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2567 | 01:09 น.

10 ธนาคารโชว์รายได้ดอกเบี้ยครึ่งปีแตะ 3.75 แสนล้าน ค่าธรรมเนียมและบริการอีก 9.2 หมื่นล้านหนุนกำไรโต 2.53% จับตามาตรการประคองลูกหนี้ สาเหตุทั้ง “หนี้จัดชั้น-เอ็นพีแอล”ตามหลอน กูรูประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง

แรงส่งของเศรษฐกิจไทยที่ถูกจํากัดจากการเบิกจ่ายงบประมาณประจําปี 2567 ที่ล่าช้ากว่ากําหนด ส่งผลต่อการใช้จ่ายภาครัฐและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยภาพรวม รวมถึงข้อจํากัดจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ถือเป็นความท้าทายจากปัจจัยเชิงลบในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 โดยttb analytics ประเมินเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ สอดคล้องกับกลุ่มธนาคารดำเนินธุรกิจผ่านกลยุทธ์การเติบโตสินเชื่ออย่างระมัดระวัง เน้นสินเชื่อที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการรักษาฐานะทางการเงินของธนาคารให้แข็งแกร่ง  ผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ งวดครึ่งปี 2567

ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) รายงานผลประกอบการงวดครึ่งปี 2567 พบว่า มีกำไรสุทธิรวม 126,129 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.53% จาก 123,017 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวม 375,942.6 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 31,948.4 ล้านบาทหรือ 9.28%จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 343,994.2 ล้านบาท บวกรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการรวม 92,330 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.47%จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 89,229 ล้านบาท

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สินเชื่อครึ่งปีหลังมีโอกาสจะเติบโตประมาณ 3.0%จากทั้งปีที่คาดว่า สินเชื่อจะขยายตัวได้ 1.5% โดยธนาคารขนาดใหญ่ยังปล่อยสินเชื่อธุรกิจมากกว่าสินเชื่อรายย่อย ขณะที่ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีแนวโน้มจะปรับลดลงเล็กน้อยจาก 3.6%ในครึ่งแรกปีเหลือ 3.5.%

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงกดดันจากทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หากมีการปรับลด อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอาจจะปรับลดลง แต่ระยะยาวต้องติดตามระยะต่อไป ขณะที่ทุกธนาคารมีเป้าหมายหลักพยายามจะลดต้นทุน ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก โดยรอประเมินภาพเศรษฐกิจก่อน ทำให้แนวโน้มไม่มุ่งเน้นการทำกำไรเป็นหลัก

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. หยวนต้า(ประเทศไทย)กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ ส่งผลให้แนวโน้มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกและสินเชื่อกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 3 ตามแรงส่งของการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และไตรมาส4 จะเห็นมาตรการดิจิทัล วอลเล็ตเข้ามาช่วย ซึ่งน่าจะทำให้ภาพรวมความสามารถในการชำระหนี้ฝั่งครัวเรือนจะดีขึ้น หลังจากครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา ความต้องการสินเชื่อไม่เติบโตนักและความสามารถในการชำระหนี้มีประเด็น เพราะรายได้ลดลง 

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)หยวนต้า(ประเทศไทย)

“ผลประกอบการกลุ่มแบงก์ไตรมาส2 และครึ่งแรกปี67ที่ ออกมาใกล้เคียงกับบล.หยวนต้า(ประเทศไทย)คาดไว้ ยกเว้น 3 ธนาคารที่องค์ประกอบข้างในแย่กว่าที่คาดไว้ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ เกียรตินาคินภัทร และทีทีบี ส่วนธนาคารกรุงไทยนั้นดีกว่าคาด”นายณัฐพลกล่าว

ส่วนภาพรวมยังคงควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ไว้ได้ โดยมีการให้น้ำหนักในการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(ECL) และมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือCoverage Ratioขยับเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความระมัดระวังคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารในภาพรวมที่ไม่แย่นัก

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า โจทย์หลักของธุรกิจธนาคารประกอบด้วย 3 เรื่องคือ คุณภาพสินทรัพย์หรือหนี้เอ็นพีแอลไตรมาส2 ยังไม่ดีนัก ซึ่งต้องการดูแลอย่างใกล้ชิดและดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ แม้ทุกธนาคารดำเนินการอยู่แล้วและสอดคล้องแนวนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอลและเป็นธรรม (RL),การสำรองหนี้ยังมีความไม่แน่นอนเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่กระจาย ซึ่งทุกธนาคารกันสำรองเตรียมไว้จำนวนมาก เป็นการเตรียมการเพื่ออนาคตและประคองธุรกิจหลัก เพราะภาครวมยังต้องรอเงื่อนไขให้เศรษฐกิจฟื้นในช่วงที่เหลือของปี

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บล.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ผลงานหลายแบงก์ไม่ได้เป็นไปตามที่ตลาดคาดหวังไว้ อีกทั้งตัวเลข ECL ปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนต่อคุณภาพลูกหนี้ที่ลดลง ทำให้มองกว่า หุ้นกลุ่มแบงก์ยังคงเป็น Neutral (คงน้ำหนักการลงทุน)

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บล.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด(มหาชน)

“ตามปกติแล้วกำไรของหุ้นกลุ่มแบงก์จะปรับตัวดีที่สุดช่วงไตรมาส 1 หรือ 2 และพอเป็นในช่วงครึ่งหลังปี ผลการดำเนินงานก็อาจทรงตัวหรือปรับตัวลดลง โดยเฉพาะไตรมาส 4 ที่เป็นโลวซีซันของทุกปี เนื่องจากกลุ่มแบงก์จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และการจ่ายค่าโบนัสให้กับพนักงานแบงก์ที่ค่อนข้างสูง”

ทั้งนี้ หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัล วอลเล็ตของรัฐบาล มาทันปลายปีนี้คาดว่า จะเข้ามาช่วยหนุนให้ตัวเลขในส่วนของสินเชื่อของกลุ่มแบงก์ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่สู่ดีนัก เหมือนจะฟื้นตัวแต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่ การเมืองยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก การที่ธุรกิจสินเชื่อปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจเป็นความเสี่ยงด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี หากมองในมุมกลับ แม้ว่าราคาหุ้นกลุ่มแบงก์จะปรับตัวลดลง แต่นี่อาจเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุนและสะสมหุ้นกลุ่มแบงก์ เพราะประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation)ปัจจุบันไม่แพง อีกทั้งหุ้นกลุ่มแบงก์ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่มีการจ่ายปันผลที่ค่อนข้างสูงระดับ 4-5% จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจ

 

หน้า 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,012  วันที่  25 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567