คลังคิกออฟ “ซอฟต์โลนออมสิน" แสนล้าน ดึง 16 แบงก์ปล่อยกู้เอสเอ็มอี

25 ก.ค. 2567 | 09:21 น.
อัพเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2567 | 09:24 น.

คลังดึง 16 แบงก์ ปล่อยกู้ “ซอฟต์โลนออมสิน" แสนล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ระบุแบงก์สนใจขอให้สินเชื่อแล้วกว่า 8 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 2 ปี แรก 3.50%

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เอสเอ็มอีเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็น 35%ของจีดีพี และก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบกว่า 70% ซึ่งหากเอสเอ็มอีได้รับการดูแลจะเป็นพื้นฐานที่ดี ทั้งนี้ ปัจจุบันเอสเอ็มอีเผชิญปัญหาไม่มีความสามารถในการชำระหนี้เดิม ไม่มีความสามารถชำระหนี้ใหม่ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกรัฐบาลได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาหนี้เสีย ต่อมาจึงต้องเติมเงิน ดูแลผู้ประกอบการอีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มฟื้นตัว และต้องการลงทุน จึงได้ออกโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท ดำเนินการโดยธนาคารออมสิน และไปปล่อยต่อให้กับสถาบันการเงิน 16 แห่ง ทั้งสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารพาณิชย์

“ตอนนี้ธนาคารพาณิชย์และแบงก์รัฐ ได้แสดงความสนใจขอใช้สินเชื่อซอฟต์โลนแล้วประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท ดังนั้น เม็ดเงินเหล่านี้ จะเริ่มทยอยเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแบงก์ใดที่ขอสินเชื่อซอฟต์โลนเข้ามาก่อน ทางธนาคารออมสินก็จะพิจารณาอนุมัติก่อน”

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ว่า เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาทนั้น ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 16 แห่ง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่เอสเอ็มอี ที่เป็นลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ ที่ไม่ใช่การรีไฟแนนซ์ ในอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก ไม่เกิน 3.5% ต่อปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายรวมทุกสถาบันการเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท ส่วนการคำนวณอัตราดอกเบี้ยหลังจากนั้นตามเงื่อนไขสถาบันการเงินกำหนด

“เหตุที่เราไม่ปล่อยสินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์ ก็เพราะว่า เราต้องการเติมเม็ดเงินใหม่เข้าระบบเศรษฐกิจ ถ้าปล่อยรีไฟแนนซ์ จะไม่เป็นเม็ดเงินใหม่ ทั้งนี้ ซอฟท์โลนแสนล้านบาทดังกล่าว ทางภาครัฐไม่ได้สนับสนุนด้านต้นทุนให้ธนาคาร แต่จะไม่กระทบต่อภาพรวมการดำเนินงานของธนาคาร เพราะเราจะมีการบริหารจัดการสินเชื่อด้านอื่นทดแทน”

อย่างไรก็ตาม หากมองเรื่องผลกระทบต่อต้นทุนนั้น เรามองว่า เป็นค่าเสียโอกาสมากกว่า เพราะหากว่า เรานำเงินไปลงทุนในตลาดอินเตอร์แบงก์ด้วยเงิน 1 แสนล้านบาท เราจะได้กำไรราว 5,000 ล้านบาทสำหรับระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้ สามารถติดต่อยื่นขอสินเชื่อได้ที่สถาบันการเงิน ที่เข้าร่วมโครงการฯ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่าจะครบวงเงิน

สำหรับสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการ รวม 16 แห่ง ได้แก่

  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
  • ธนาคารกรุงเทพ
  • ธนาคารกสิกรไทย
  • ธนาคารไทยพาณิชย์
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  • ธนาคารทหารไทยธนชาต
  • ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
  • ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
  • ธนาคารยูโอบี
  • ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)
  • ธนาคารทิสโก้
  • ธนาคารไทยเครดิต