ทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังเผชิญปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เร่งตัวและส่งผลกระทบรุนแรงกว่าคาด เช่น น้ำท่วมรุนแรง โลกร้อนขึ้นมาก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า หากไม่สามารถรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง สิ่งมีชีวิตหลายประเภทจะสูญพันธุ์ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์
เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกประเทศรวมถึงไทยต้องตั้งเป้าและดำเนินการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศได้ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050
มีการใช้มาตรการด้านการค้าระหว่างประเทศด้วย เช่น มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป ที่จะจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า ซึ่งอาจกระทบผู้ส่งออกไทยรวมถึง SMEs ที่ยังไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซฯ จากการผลิตได้
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การดำเนินการในเรื่องการเงินเพื่อความยั่งยืนต้องอาศัย green ecosystem ที่เหมาะสม ต้องเริ่มตั้งแต่การวางรากฐานและใช้เวลาในการพัฒนา
ในส่วนของการวางรากฐานสำหรับภาคสถาบันการเงิน ธปท.ได้ออกแนวนโยบายเรื่องการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงิน โดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อสื่อสารความคาดหวังให้สถาบันการเงินผนวกการประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ
ซึ่งหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญ คือ การกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตสินเชื่อและการลงทุนที่มีนัยสำคัญ รวมถึงการมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของลูกค้าอย่างเป็นรูปธรรม
"สถาบันการเงินส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่อผนวกเรื่องนี้เข้าไป โดยธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้เริ่มมีการกำหนดและประกาศเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อสีเขียวไปบ้างแล้ว ซึ่ง ธปท. มีกำหนดการที่จะให้สถาบันการเงินประเมินตนเองพร้อมระบุแผนในการปิด gap และส่งข้อมูลดังกล่าวกลับมายัง ธปท. ช่วงต้นปี 2568”
นอกจากนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับสถาบันการเงินในส่วนนี้ ธปท.ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ(D-SIBs) 6แห่ง และ non D-SIBs ที่สนใจ ให้เริ่มจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในส่วนของการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ (transition plan ของ สง.)
โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมายและมีแผนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ (scope 3 - financed emissions) โดยคาดหวัง ให้เริ่มจัดทำให้แล้วเสร็จอย่างน้อย 1 ภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงหรือที่มีนัยสำคัญต่อพอร์ตสินเชื่อของสถาบันการเงินภายในสิ้นปี 2568
ขณะเดียวกัน ธปท.เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีผลิตภัณฑ์สนับสนุนเงินทุนให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs มีการปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมและเหมาะกับบริบทไทย ที่โครงสร้างเศรษฐกิจเป็น brown ในสัดส่วนที่สูง มีความเปราะบางต่อภัยธรรมชาติ และ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานเศรษฐกิจไทย ยังไม่พร้อมและไม่สามารถปรับตัวด้วยอัตราความเร็วเดียวกันกับรายใหญ่ได้
ธปท. จึงร่วมกับสถาบันการเงิน ซึ่งมีความใกล้ชิดและรู้จักลูกค้า ผลักดันให้มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การปรับตัวในบริบทไทย โดยปีนี้ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ที่สนใจ 8 แห่ง ริเริ่มโครงการ Financing the transition ซึ่่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบริการที่ช่วยสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจที่ตอบโจทย์บริบทไทย
โดยเน้นสนับสนุนธุรกิจปรับตัวจาก brown เป็น less brown โดยครอบคลุมภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยที่มีความจำเป็นต้องปรับตัว เช่น ภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ภาคโรงแรม และตอบโจทย์การปรับตัว SMEs ที่อาจต้องเริ่มจากการปรับตัวก้าวเล็กๆ ก่อน
เช่น สามารถเริ่มจากการปรับเปลี่ยนกิจกรรมหรืออุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน โดยกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะกับกิจกรรมปรับตัวในช่วงเริ่มต้น โดยไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบตามมาตรฐานสากล สนับสนุนให้เกิดลูกค้าปรับตัวอย่างจริงจังและขยายผลไปยังลูกค้ารายอื่นที่คล้ายกันได้ โดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อมีเงื่อนไขที่เหมาะสมและจูงใจให้ลูกค้าปรับตัวให้เกิดผลจริง และสามารถรองรับลูกค้าที่ต้องการปรับตัวในกิจกรรมคล้ายกันได้
สำหรับประเทศที่มีบริบทใกล้เคียงกับไทยและมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังคือ มาเลเซีย เนื่องจากมาเลเซียยังมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นสีน้ำตาลสูง เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ไฟฟ้าและภาคปิโตรเคมีคอลและพลังงาน และมี SMEs จำนวนมากที่ยังไม่พร้อมปรับตัวคล้ายไทย
ภายใต้การผสมผสานความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคการเงิน และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การปรับตัวของภาคเศรษฐกิจที่สำคัญและ SMEs อย่างครบวงจร เช่น
“การผสมผสานแรงผลักจากภาครัฐและแรงสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆของมาเลเซีย เพื่อสนับสนุนภาคเศรษฐกิจสำคัญและ SMEs ปรับตัวอย่างครบวงจร น่าจะสามารถนำมาปรับใช้กับไทยได้”นายรณดลกล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,028 วันที่ 19 - 21 กันยายน พ.ศ. 2567