แบงก์ใบโพธิ์ลั่น ธุรกิจแบงก์ปีหน้าเหนื่อยแน่

04 ธ.ค. 2567 | 05:14 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2567 | 05:46 น.

ซีอีโอ SCB ยอมรับ ดอกเบี้ยขาลง กระทบรายได้แบงก์ ทุก 0.25% รายได้ดอกเบี้ยหาย 5,000-10,000 ล้านบาท ชี้ธุรกิจแบงก์เหนื่อยแน่ ท่ามกลางเศรษฐกิจโตจำกัด สินเชื่อชะลอ ลั่นโลโก้ใบโพธิ์ยังอยู่คู่คนไทยอีก 100ปี

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ไทยพาณิชย์(SCB)เปิดเผยว่า แนวโน้มดอกเบี้ยขาลงในปี 2568 จะกระทบต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เพราะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ย 0.25% จะทำให้รายได้ของธนาคารหายไปประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาทขึ้นกับแต่ละแบงก์

แบงก์ใบโพธิ์ลั่น ธุรกิจแบงก์ปีหน้าเหนื่อยแน่

"จึงเป็นความท้าทายของธุรกิจธนาคาร ขณะที่แบงก์จะแข่งขันดูแลลูกค้ารายใหญ่และธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง(เวลธ์)" 

ดังนั้นปีหน้าธุรกิจแบงก์จะเหนื่อยว่าปีนี้แน่นอน และหากดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง 2ครั้งต่อปี ก็จะยิ่งกระทบรายได้ดอกเบี้ยของแบงก์หนัก ท่ามกลางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตได้ค่อนข้างจำกัดและการปล่อยสินเชื่อ

ดังนั้น ถ้าเป็นลูกค้ารายย่อยรายใหม่ ถ้าไม่เข้มแข็งแบงก์ต้องกรองแล้วกรองอีก ส่วนลูกค้ารายใหญ่แม้จะยังปล่อย แต่เขามีทางเลือกเยอะจากการแข่งขันกดดันดอกเบี้ยเยอะ

“ภาพการเติบโตของแบงก์ไทยจากนี้ไปต้องลดต้นทุนและหารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ซึ่งภายใน 2ปีข้างหน้าหรือปี 2569 อยากให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 27%” 

ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ปัจจุบันดูแลกลุ่มธุรกิจ GEN1 ประกอบด้วย ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ บริษัทร่วมทุนจูเลียสแบร์หรือ SCB Julius Baer บลจ.ไทยพาณิชย์ ธุรกิจประกัน(SCB Protect) แนวทางดำเนินงานเน้นจัดระบบให้สอดคล้องโดยเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

โดยปีหน้าจะเลือกโตในธุรกิจเวลธ์และคาดหวังให้เป็นอันดับ1 เช่นเดียวกับธุรกิจรายย่อย คือ จากคะแนนวัดความพึงพอใจ(NTS)ที่ผ่านมา ไทยพาณิชย์ครองใจอันดับ1 ทั้งลูกค้ารายใหญ่และ SMEs

ปัจจุบันกลุ่มเวลธ์ อยู่ระหว่างจัดทำและเสนอแผนรวมฐานลูกค้า จากที่มีอยู่ 4กลุ่ม คือ กลุ่มไพร์ม กลุ่มเฟิร์ส กลุ่มไพรเวท และกลุ่มไพรเวทแบงก์กิ้งที่บริหารด้วยบริษัทร่วมทุน SCB Julius Baer โดยปีหน้าจะมีพันธมิตรใหม่จากต่างประเทศอีกรายเข้ามาด้วย 

"ธนาคารมีแผนจะพยายามรวมฐานลูกค้ากลุ่มเวลธ์ให้เป็นเซ็กเม้นต์ที่ง่ายขึ้นไม่มากขนาดนี้ ซึ่งจะแถลงอย่างเป็นทางการในปีหน้า" 

ขณะเดียวกันด้วยความที่ไทยพาณิชย์พุ่งเป้าหมายลูกค้ากลุ่มคนที่มีฐานะ(มั่งคั่ง) เชื่อว่า กลุ่มคนที่มีฐานะในประเทศไทยยังเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและกลุ่มคนเหล่านี้ชอบที่จะลงทุนแต่มีสินทรัพย์บางอย่างที่อาจจะแปรผันเป็นการลงทุนได้ไม่โดยตรง

ไทยพาณิชย์จึงนำสินทรัพย์เหล่านั้นมาบริหารจัดการเพื่อปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ลูกค้านำไปลงทุนปัจจุบันไทยพาณิชย์ก็เป็นจ้าวตลาดสินเชื่อกลุ่มเวลธ์ด้วย 

ส่วนนโยบายด้านสาขานั้น นายกฤษณ์กล่าวย้ำว่า ไทยพาณิชย์ไม่มีวันที่จะไม่มีสาขา เพราะยังคงมีลูกค้าใช้บริการ โจทย์หลักคือ ต้องทำให้ช่องทางดิจิทัลดีพอ เพื่อให้ลูกค้ายอมไปใช้บริการผ่านดิจิทัลหรือ SCB easy ซึ่งตอนนี้มีผู้ใช้กว่า 100 ธุรกรรม จากฐานลูกค้าเกือบ 15 ล้านราย

ดังนั้นต้องรอดูว่าจำนวนสาขาจะเหลือ 400 สาขาหรือ 500 สาขาจากที่มีกว่า 700สาขา ซึ่งกำหนด KPI จากผลตอบรับดิจิทัลเซลกับดิจิทัลเซอร์วิส  

ขณะที่จำนวนพนักงาน หากจะแข่งขันกับดิจิทัลแบงก์ก็ต้องมีขนาดที่เหลือเหมาะสม จากปัจจุบันไทยพาณิชย์มีพนักงาน 19,000 คน ความยากคือ จะเปลี่ยนคน/พนักงานให้ไปด้วยกันให้เร็วที่สุดอย่างไร หรือทำอย่างไรให้โอกาสคนมากที่สุด

เหล่านี้เป็นโจทย์ที่มีความท้าทาย ซึ่งต้องให้โอกาสกับพนักงานทุกคนในการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลให้เร็ว โดยเฉพาะต้องบริหารให้สัดส่วนต้นทุนแปรผันมากที่สุดจากปัจจุบันต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่

ส่วนค่าใช้จ่ายหลักจะเป็นการลงทุนใน Core Banking รองลงมาคือ ระบบคลาวด์ แต่งบลงทุนด้านเทคโนโลยี จะจ่ายเป็นเทอมกระจายรายปี แต่ปีหน้ามีรายจ่ายจริง ก็จะทำให้ตัวเลขดูเยอะ  

“ตอนผมรับตำแหน่งนี้ บนความมั่นใจว่า อย่างไร SCB ก็เป็นเบอร์หนึ่งของกลุ่มอยู่แล้ว ทุกวันนี้เรากำไรมากที่สุด สำหรับผมหน้าที่คือ ทำแบงก์ไทยพาณิชย์ให้ดีที่สุด และโจทย์ของผมง่ายนิดเดียวคือ ทำอย่างไรก็แล้วแต่ให้ธนาคารและโลโก้ใบโพธิ์ยังอยู่คู่คนไทยอีก 100ปีข้างหน้า ยอมรับว่า ไม่ง่าย กับเศรษฐกิจไทยที่ท้าทายมาก”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,050 วันที่ 5 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567