แบงก์ชาติจับตา บริษัทขนาดใหญ่บางราย เหตุมีหนี้สูง สะสมความเสี่ยง

03 ม.ค. 2568 | 05:56 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2568 | 11:55 น.

แบงก์ชาติชี้ หนี้ครัวเรือนลดลง แต่ยังทรงตัวในระดับสูง บั่นทอนกำลังซื้อ กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ ด้านหนี้ธุรกิจโดยรวมลดลง แต่บริษัทขนาดใหญ่บางราย มีหนี้สูง ต้องจับตาต่อเนื่อง เหตุสะสมความเปราะบางทางการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ รายงานว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยยังอยู่ในระดับสูงที่ 89.6% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 สูงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของภาคครัวเรือนและกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม หนี้ภาคครัวเรือนชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มีแนวโน้มจะลดลงเร็วกว่าที่ประเมินไว้ สะท้อนถึงการเร่งตัวขึ้นของกระบวนการ deleveraging โดยสินเชื่อภาคครัวเรือนชะลอตัวลงเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และบัตรเครดิต

แบงก์ชาติจับตา บริษัทขนาดใหญ่บางราย เหตุมีหนี้สูง สะสมความเสี่ยง

แม้สินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลัหลักประกันสินเชื่อจำนำทะเบียน และสินเชื่อสหกรณ์จะยังขยายตัวได้ และช่วยสนับสนุนสภาพคล่องของครัวเรือน

 

นอกจากนี้ โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ที่เปิดให้ลงทะเบียนแล้วเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.67 จะมีส่วนช่วยให้กระบวนการ deleveraging ของภาคครัวเรือนสามารถทำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการ "จ่ายตรง คงทรัพย์" จะช่วยให้ครัวเรือนสามารถลดหนี้ที่อยู่อาศัยได้เร็วขึ้น

ส่วนภาคธุรกิจไทยโดยรวมก่อหนี้ลดลง โดยชะลอตัวทั้งสินเชื่อและการออกตราสารหนี้ภาคเอกชน ประกอบกับเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ ทำให้สัดส่วนหนี้ธุรกิจต่อ GDP ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 86.5% ลดลงจากระดับสูงสุดที่ 89.9% ในช่วงวิกฤตโควิด-19

ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินสูง มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (debt-to-equity ratio) โดยรวมทรงตัวอยู่ที่ระดับ 0.7 เท่า โดยการก่อหนี้ที่ลดลงเป็นผลจากภาวะการเงินที่ดึงตัวขึ้นและความต้องการกู้ยืมเพื่อลงทุนใหม่ของภาคธุรกิจชะลอลง

"บางส่วนต้องการรอดูความชัดเจนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่บางธุรกิจเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากประเทศจีน"

อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดใหญ่บางรายในปัจจุบันที่มีฐานะการเงินที่ค่อนข้างดีและมีสภาพคล่องเพียงพอ มีการก่อหนี้ในระดับที่สูง ทั้งในส่วนของสินเชื่อและตราสารหนี้ ซึ่งอาจเป็นการสะสมความเปราะบางทางการเงิน จึงต้องมีการติดตามความเสี่ยงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แม้กระบวนการ deleveragine ของภาคครัวเรือนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจะช่วยลดความเสียงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว แต่ต้องติดตามผลของการลดหนี้ต่อสภาพคล่องของครัวเรือนในระยะข้างหน้า ซึ่งหากมีการลดหนี้รวดเร็วจนเกินไปท่ามกลางรายได้ที่ฟื้นตัวช้า อาจทำให้ครัวเรือนมีสภาพคล่องไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายและอาจส่งผลต่อการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้

ประกอบกับความต้องการกู้ยืมเพื่อลงทุนใหม่ของภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า จะเป็นอีกปัจจัยที่จะกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินผ่านการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้นและคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงเพิ่มเติมได้

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนด้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อย กลุ่มลูกหนี้เปราะบางที่ได้รับความช่วยเหลือไปก่อนหน้านี้ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ (self-employed) ที่รายได้ฟื้นตัวช้าไม่ทันกับค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น

สะท้อนจากกลุ่มสินเชื่อวงเงินต่ำที่มีสัดส่วนบัญชีที่ค้างชำระมากกว่า 30 วัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสูงกว่ากลุ่มวงเงินอื่นอื่น ๆ ในทุกประเภทสินเชื่อ จึงต้องติดตามความเสี่ยงในการชำระหนี้ของกลุ่มลูกหนี้เปราะบางนี้อย่างใกล้ชิด 

แบงก์ชาติจับตา บริษัทขนาดใหญ่บางราย เหตุมีหนี้สูง สะสมความเสี่ยง

ธุรกิจ SMEs มีฐานะการเงินอ่อนแอ โดยสัดส่วนจำนวนบริษัทที่ฐานะการเงินอ่อนแอค่อนข้างสูงมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยสัดส่วนจำนวนบริษัทที่มีอัตราส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีต่อดอกเบี้ยจ่าย (interest coverage ratio : ICR) ต่ำกว่า 1 เท่า อยู่ที่ 28% ในธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก และ 74% ในธุรกิจ SMES ขนาดย่อม'

แบงก์ชาติจับตา บริษัทขนาดใหญ่บางราย เหตุมีหนี้สูง สะสมความเสี่ยง

ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่บางส่วนมีผลการดำเนินงานด้อยลง ด้านคุณภาพสินเชื่อธุรกิจในภาพรวมด้อยลง

โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan : NPL หรือ stage 3) และสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (signifcant increase in credit risk : SICR หรือ stage 2) เร่งตัวขึ้นอยู่ที่ 7.1% และ 12.2% ตามลำดับ  

แบงก์ชาติจับตา บริษัทขนาดใหญ่บางราย เหตุมีหนี้สูง สะสมความเสี่ยง

ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ มีสัดส่วนวนสินเชื่อ stage 2 เพิ่มขึ้นเป็น 4.1% จากการจัดชั้นเชิงคณภาพของทางธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) เป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อ NPL ทรงตัว