ออมสิน กางแผนปี68 ส่ง 3 บริษัทลูก สร้าง Social Impact

03 ม.ค. 2568 | 06:13 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2568 | 06:13 น.

“วิทัย รัตนากร” ฉายภาพ “ออมสิน” ปี 68 เน้นสร้างอิมแพ็ค 3 บริษัทในเครือ “GSB GROUP” สร้างโซเชียล โปรเจ็ค ออกสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน โชว์สถานะแบงก์แกร่ง ตั้งสำรองพุ่งแสนล้าน คาดกำไร 2.7 หมื่นล้าน

ธนาคารออมสิน” สถาบันการเงินของรัฐแห่งแรก ที่จัดตั้งบริษัทลูกในเครือ “GSB GROUP” เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมา ได้รุกตั้งบริษัทลูกถึง 3 แห่ง เพื่อเข้ามาแก้ Pain Point ที่ออมสินไม่สามารถดำเนินการได้โดยตรง

ส่วนในปี 2568 นี้ จะเน้นบริหารบริษัทลูก ทำให้เกิด Social Impact เพื่อช่วยสังคมได้มากขึ้นอีก 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้ฉายภาพการดำเนินงานในปี 2568 ว่า ธนาคารออมสินพร้อมเดินหน้าตามภารกิจหลักของธนาคาร คือ การดึงคนเข้าสู่ระบบสินเชื่อ แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน งานพัฒนา และสนับสนุนภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นงานโซเชียลแบงก์ (Social Bank) ควบคู่กับงานปกติของเรา 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน

สำหรับปี 2567 ที่ผ่านมา เรารุกตั้งบริษัทลูก 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด (Air AMC) บริษัท เงินดีดี จำกัด หรือ Good Money, และธุรกิจไอทีผ่าน บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ ฉะนั้น ในปี 2568 นี้ เราจะสร้างอิมแพ็คให้ใหญ่ขึ้น และมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นายวิทัย เล่าว่า ตอนนี้ Air AMC เราได้ทดสอบโอนหนี้เสียล็อตแรกไปแล้ว และจะมีรอบที่ 2 และ 3 ส่วนในระยะต่อไป Air AMC จะเข้าไปขอโอนหนี้เสียจากสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งจะมีการเจรจาร่วมกันเพิ่มเติม ขณะที่การเดินหน้า Good Money นั้น ตอนนี้ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 6,000 ราย จากนี้ไปจะขยายผลเข้าไปช่วยคนให้มากขึ้น และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ด้านธุรกิจไอทีนั้น บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จะเข้ามาช่วยเน้นในเรื่องการทำเอไอ เช่น นำเอไอไปใช้กับงานบริการ การนำเอไอไปใช้ในสาขา เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดสินเชื่อ และจะนำเอาเอไอมาใช้คัดกรองเครดิตของลูกค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งจากนี้ไปจะมีแผนไอเอที่ชัดเจนขึ้น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในไตรมาสแรกของปี 2568 และเริ่มทั้งระบบภายในปีนี้

“ธุรกิจทั้ง 3 ส่วนนี้ เป็นการแก้ Pain Point แต่ละจุด เช่น Air AMC เราแก้ปัญหาเรื่องหนี้เสียที่ฝังอยู่ ขายราคาถูกก็ไม่ได้ ลดหรือแฮร์คัทก็ไม่ได้ แต่เมื่อขายให้บริษัทลูกก็สามารถทำได้ เช่นเดียวกัน กับธุรกิจ Good Money เราขยายไปยังกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ คาดว่าจะสามารถสนับสนุนให้ฐานรากเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 1 แสนรายต่อปี”

 นอกจากนี้ ในปี 2568 ออมสินยังพร้อมเดินหน้าโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ 1. จ่ายตรง คงทรัพย์ และ 2. จ่าย ปิด จบ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยในส่วนของลูกค้าสถาบันการเงินของรัฐ มีลูกค้าเข้าข่าย ทั้งหมด 5 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.5 แสนล้านบาท จากจำนวนดังกล่าวเป็นลูกค้าธนาคารออมสิน 1.65 แสนบัญชี มูลหนี้ 1.08 แสนล้านบาท

 นายวิทัย กล่าวว่า หากแบ่งเป็นมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” นั้น เป็นลูกค้าสถาบันการเงินของรัฐ 1.3 แสนบัญชี โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นลูกค้าธนาคารออมสิน 1.1 แสนบัญชี ส่วนของแบงก์พาณิชย์มีจำนวนน้อยมาก หลักหมื่นบัญชี

ซึ่งรูปแบบการดำเนินการมาตรการนี้ คล้ายกับการแก้ไขหนี้โควิดที่ออมสินดำเนินการอยู่ โดยลูกค้าที่มีหนี้เสียในบัญชี ไม่เกิน 5,000 บาท เมื่อลงทะเบียน และมาชำระหนี้ 10% ตามเงื่อนไขแล้ว จะได้รับการยกหนี้ที่เหลือให้ทันที

ส่วนแบงก์รัฐได้รับการสนับสนุนวงเงินชดเชยจากรัฐบาลในการดำเนินภารกิจดังกล่าว ผ่านงบประมาณมาตรา 28 ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง นอกจากนี้ รัฐบาลได้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) เหลือ 0.125%

แผนงานออมสินปี 2568

ทั้งนี้ สถาบันการเงินของรัฐ จะต้องทำโครงการเพื่อมาช่วยเหลือประชาชน โดยวงเงินรวมของแบงก์รัฐในการดูแลประชาชนผ่านการลดเงินนำส่งนั้น เฉลี่ยปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท และในปี 2568 ออมสินจะออกโครงการใหม่เพื่อมาดูแลลูกค้า เช่น การลดดอกเบี้ยลูกหนี้ดี เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก และขนาดกลาง ที่ต้องการเข้าถึงเงินทุนหมุนเวียน ตั้งแต่หลัก 3-5 แสนบาท ไปจนถึงวงเงินประมาณ 1-2 ล้านบาท แต่ไม่สามารถเข้าไม่ถึงสินเชื่อได้

"ออมสินอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดโครงการเพื่อดูแลกลุ่มนี้ เป็นหนึ่งในโครงการโซเชียลแบงก์ โปรเจ็ค ที่เราต้องการช่วยเหลือสังคม วางกรอบวงเงินไว้ที่ 10,000 ล้านบาท เป้าหมายดูแลเอสเอ็มอี 10,000 ราย"

ส่วนการทำธุรกิจ ผ่านบริษัท มีที่ มีเงิน ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนเช่นเดียวกัน ผ่านสินเชื่อที่ดิน และขายฝาก โดยในปี 2567 มีกำไรจากการประกอบธุรกิจ 120 ล้านบาท ขนาดพอร์ตโตอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท และในปี 2568 นั้น คาดว่าสัดส่วนพอร์ตจะเติบโตอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรอยู่ที่ 200 ล้านบาท

สำหรับผลดำเนินงานของออมสินนั้น หลังจากภาครัฐได้ปรับตัวชี้วัดไม่มุ่งเน้นเรื่องกำไรสูงสุด เราก็คาดว่ากำไรในปี 2568 จะใกล้เคียงเดิม จากปี 2567 คาดว่า จะมีกำไร 27,000 ล้านบาท และธนาคารยังมีสถานะแข็งแกร่ง โดยได้ตั้งสำรองตามเกณฑ์ โดยการตั้งสำรองรวมอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท

ด้านสำรองส่วนเกิน จากอดีตอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 70,000 ล้านบาท และออมสินจะเดินหน้าตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS 9) ซึ่งยังเหลืออยู่ประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าสินเชื่อจะโตประมาณปีละ 8 หมื่น - 1 แสนล้านบาท และสัดส่วน 90% เป็นรายย่อย

ส่วนเรื่องเงินฝากของออมสินนั้น คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท จากสัดส่วนดังกล่าว แบ่งเป็นสัดส่วนสลากออมสิน 50% และยอดเงินฝากคงค้างในปี 2567 อยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท ด้านสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท

"ออมสินมุ่งเน้นเรื่องโซเชียลอิมแพ็ค โดยในปี 2568 เราวางเป้าหมายช่วยเหลือเรื่องดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท"

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,059 วันที่ 5 - 8 มกราคม พ.ศ. 2568