หลังจากไทยได้ทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ วางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% ในปี 2030 และเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Net Zero) ในปี 2065 ภาครัฐได้ใช้กลไกสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนลดการปล่อยคาร์บอน เช่น มาตรการส่งเสริมใช้รถไฟฟ้า และล่าสุด เตรียมใช้กลไกภาคบังคับ ผ่านภาษีคาร์บอน เพื่อให้ธุรกิจปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การปรับธุรกิจสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น มีต้นทุนในการดำเนินการ ฉะนั้น ในด้านแหล่งเงินทุน สถาบันการเงินของรัฐ ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุนธุรกิจ โดยการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้ทั่วไป สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับตัว
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า เพื่อเป้าหมายการเดินหน้าสู่ Net Zero ออมสินมีรายการกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่พิจารณาปล่อยสินเชื่อ เช่น ธุรกิจถ่านหิน ขณะเดียวกันจะมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ออมสินได้ทำจัดทำ ESG Score เพื่อนำผลคะแนนมามาประกอบการพิจารณาสินเชื่อเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนธุรกิจปรับเปลี่ยนสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ
สำหรับการพัฒนาสกอร์ขึ้นมา จะช่วยลูกค้าในระดับ 1-10 หากใครได้คะแนนสูง 8-10 ก็จะลดดอกเบี้ยให้ ถือเป็นข้อกำหนดสำหรับธุรกิจที่ขอสินเชื่อตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ต้องผ่านการประเมินผลคะแนน ESG Score นี้เท่านั้น โดยขณะนี้ออมสินได้มีการปล่อยสินเชื่อผ่าน ESG Score ไปแล้วกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท
"การใช้ ESG Score ก็เหมือนเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เขาเข้ามาร่วมทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ตอนนี้การขอสินเชื่อตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ต้องผ่าน Score นี้เท่านั้น ส่วนในปี 68 จะดึงยอดขอสินเชื่อลงมาอยู่ที่ 250 ล้านบาท หากรายใดไม่พร้อมออมสินก็จะเข้าไปช่วย เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งเป็นการ Engagement อีกรูปแบบหนึ่ง และเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง"
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า EXIM BANK วางเป้าหมายว่าอีก 2 ปีข้างหน้า พอร์ตสินเชื่อสีเขียวของแบงก์จะเติบโตในสัดส่วน 50%ของสินทรัพย์ทั้งหมด โดยขณะนี้สินเชื่อสีเขียวในพอร์ตของธนาคารอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 37%จากเป้าหมายที่วางไว้
“ตัวเลขสินเชื่อสีเขียวในพอร์ตของแบงก์ 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 37% จากเป้าหมายที่เราวางไว้ ว่าจะผลักดันให้พอร์ตสินเชื่อสีเขียวเติบโตอยู่ที่สัดส่วน 50% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ในอีก 2 ปีข้างหน้า ถือว่ามีความท้าทายมาก ซึ่งเราวางหมุดหมายว่า อีก 2 ปี สินทรัพย์ของแบงก์จะขยายตัวเป็น 2.5 แสนล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อสีเขียวต้องมีสัดส่วน 1.25 แสนล้านบาท”
ขณะเดียวกัน ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ระดมทุนผ่านการออกกรีนบอนด์ และบลูบอลด์ รวมกว่า 1.65 หมื่นล้านบาท โดยในวงเงินที่ธนาคารระดมทุนมานั้น ได้นำมาปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการที่ปรับตัวสู่กรีน และเร็วๆ นี้ ธนาคารจะออกสินเชื่อ Green Tourism หรือสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่องที่ปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท
“สินเชื่อ Green Tourism จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มบริการ ท่องเที่ยวที่ปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว ขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้รับสินเชื่อ วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 4% โดยธุรกิจที่ปรับตัว เช่น บริการรถทัวร์ หากเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า หากลดการปล่อยคาร์บอนก็จะเข้าข่ายการได้รับสินเชื่อ เป็นต้น”
ขณะเดียวกัน ในปี 2568 ธนาคารมีเป้าหมายที่จะระดมทุนกรีนบอนด์ และบลูบอนด์อีก 5,000 - 10,000 ล้านบาท รวมทั้งจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และสินเชื่อเงินกู้ระยะยาว Sustainability Linked Loan ระยะที่ 2 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยมีหลักการง่ายๆ คือ เมื่อผู้ประกอบการขนาดเล็กลดการปล่อยคาร์บอน ก็สามารถนำมาลดดอกเบี้ยกับธนาคารได้ เริ่มตั้งแต่ 15 สตางค์ ไปจนถึง 1 สลึง เป็นต้น
ทั้งนี้ การดำเนินการ Sustainability Linked Loan ในระยะแรก เราเน้นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งต้องมีเงินไปจ้างผู้ประกอบการขนาดเล็กในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ด้วย แต่การดำเนินการในระยะที่ 2 นี้ ธนาคารจะร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อรับรองการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่สีเขียว โดยไม่ได้คิดค่าบริการ
ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รายงานว่า ธ.ก.ส. เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนภายใต้ BCG Model โดยส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนให้กับเกษตรกร บุคคล นิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร ผ่านสินเชื่อ BCG Model โดยขณะนี้ปล่อยสินเชื่อวงเงินรวมแล้วกว่า 41,474 ล้านบาท
สำหรับสินเชื่อ BCG Model ประกอบด้วย 1.สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy Credit) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้เพิ่มศักยภาพในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต
2.สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Credit) เพื่อสนับสนุนการลดปริมาณของเสียให้เท่ากับศูนย์ (Zero waste) โดยนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และแปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
และ 3.สินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์หรือการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด รวมถึงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง