บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK เปิดเผยรายการข้อมูลตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2565 ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 พบว่า ณ เดือนตุลาคม 2566 มีสินทรัพย์รวมตามราคาประเมิน 6,217 ล้านบาท หนี้สินรวม 39,897 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 33,680 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายติดลบ 405.49%
ขณะที่เงินกองทุนที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมดติดลบ 33,699 ล้านบาท เงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย 8,311 ล้านบาท สินทรัพย์สภาพคล่อง 3,332 ล้านบาท ภาระหนี้ตามสัญญาประกันภัยรวม 38,411 ล้านบาท แบ่งเป็นสัญญากรมธรรม์ประกันภัยโควิด 33,741 ล้านบาทและกรมธรรม์แอื่นๆอีก 4,670 ล้านบาท
ล่าสุดสถานะการพักการชำระหนี้หรือ Automatic Stay ของ SMK สิ้นสุดลง หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการของ SMK เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 โดยคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ดคปภ.) เห็นชอบให้สำนักงานคปภ.ในฐานะนายทะเบียนสั่งให้ SMK หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน
ทั้งนี้เจ้าหนี้บมจ.สินมั่นคงตามที่ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้นั้น ล่าสุด ณวันที่ 15 ธันวาคม 2566 มีจำนวนเจ้าหนี้ที่ขอยื่นรับชำระหนี้ 295,609 ราย รวมจำนวนหนี้ที่ยื่นขอ 29,303,015,045.13 บาท
นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี สำนักงานคปภ.เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกกระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวนั้น นอกจากจะทำให้สภาวะพักการชำระหนี้ หรือ Automatic Stay สิ้นสุดหรือหลุดไปในทันทีแล้ว การห้ามเคลื่อนย้ายทรัพย์สินก็จะหลุดไปด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อบริษัทออกจากกระบวนการของศาลล้มละลายกลางแล้ว บริษัทจะมีอิสระในการทำอะไรก็ได้
ดังนั้นคปภ.จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บมจ. สินมั่นคงประกันภัย หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และห้ามเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566
ขณะเดียวกัน คปภ.ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปกลั่นกรองการจ่ายเงิน ซึ่งหลักการวันนี้ บมจ.สินมั่นคงประกันภัยยังคงดำเนินงานอยู่ รวมถึงกระบวนการทั้งหลาย การบริหารจัดการธุรกิจ เพราะฉะนั้นสินไหมหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทจะดำเนินการเสนอเคลมต่อเจ้าหน้าที่ของคปภ.เพื่อพิจารณากลั่นกรองว่า เคลมนั้นๆเป็นการเคลมปกติหรือไม่ ถ้าหากพิจารณาแล้วสามารถจ่ายเคลมได้ก็จะดำเนินการจ่ายเคลมตามกระบวนการปกติ แต่คปภ.จะดูว่า ต้องไม่มีอะไรที่ผิดปกติ
ส่วนของระยะเวลาดำเนินการนั้น เป็นกระบวนการที่ให้เวลากับบริษัทในเวลาสั้นๆหรือไม่ยาวนัก เพื่อให้บริษัทหาทางออก เช่น จะดำเนินการเรื่องใดบ้างในช่วงนี้ แนวโน้มจะมีการเพิ่มทุนหรือไม่ หรือจะบริหารจัดการลูกค้าอย่างไร เป็นเรื่องที่บริษัทจะต้องดำเนินการและเสนอต่อคปภ.
“สิ่งที่บอกบริษัทไปคือ ต้องเร่งด่วน เพราะภาวะการที่สินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สินมาพักใหญ่แล้ว แต่เราให้เวลาได้จำกัด และเมื่อบริษัทข้อเสนอมา ก็จะนำเรียนบอร์ดของคปภ.เพื่อพิจารณาต่อไป”นายอดิศรกล่าว
ในส่วนของความเป็นไปได้ในการเพิ่มทุนนั้น ส่วนตัว ไม่ขอให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าว แต่ขอย้ำว่า คปภ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ สิ่งที่ดำเนินการคือ คปภ.เข้าไปควบคุมการดำเนินงานของบริษัท โดยเฉพาะจะไม่จ่ายเคลมรายการที่แปลกประหลาดหรือสินทรัพย์จะต้องคงอยู่เพื่อผู้เอาประกันภัย แต่หากข้อเสนอของบริษัทสมเหตุผล อาจช่วยให้การดูแลลูกค้ารวดเร็วได้ แต่หากไม่สมเหตุผลคปภ.อาจต้องยกระดับมาตรการทางกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ถ้ากระบวนการทางกฎหมายแล้ว บมจ.สินมั่นคงต้องเข้าสู่กระบวนการเพิกถอนใบอนุญาตนั้น บริษัทจะเข้าไปอยู่ในกองทุนประกันวินาศภัย แต่ขอย้ำว่า ปัจจุบันบมจ.สินมั่นคงประกันภัยยังดำเนินงานอยู่ ลูกค้าสามารถติดต่อบริษัทได้ปกติ เพราะกรมธรรม์ยังคงได้รับความคุ้มครองปกติ และหากผู้ถือกรมธรรม์ต้องการโอนหรือประสงค์จะยกเลิกกรมธรรม์ สิ่งเหล่านี้เป็นขั้นตอนและมาตรการที่ทางการและภาคธุรกิจเคยทำงานร่วมกันอยู่แล้ว
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกฟื้นฟูกิจการของ SMK โดยผู้ทำแผน ซึ่งเป็นลูกหนี้เองจะส่งคืนกิจการทั้งหมดให้กับ SMK จากนั้น SMK จะต้องดำเนินการชำระหนี้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย ถ้ากรณีมีเจ้าหนี้ฟ้องคดีอยู่ในชั้นศาล ทางศาลจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาต่อไป
ส่วนคดีที่เจ้าหนี้ได้รับคำพิพากษาแล้วหรืออยู่ระหว่างการบังคับคดีจะดำเนินการบังคับคดีได้ต่อไป เนื่องจากสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายได้พ้นไปตั้งแต่ศาลล้มละลายมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว ขณะเดียวกันผู้ถือกรมธรรม์ที่ต้องการเคลมสินไหมยังคงสามารถยื่นขอเคลมสินไหม แต่ขึ้นอยู่กับสถานะของบริษัทว่า จะจ่ายค่าสินไหมได้หรือจะสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้แค่ไหน และผู้ถือกรมธรรม์อื่นๆ ยังดำเนินการได้ตามปกติ เพียงแต่ตอนนี้คปภ.มีคำสั่งห้ามรับประกันภัยเพิ่ม
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,950 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2566