ทำไมบางทีข่าวดีแล้วตลาดเท!! ทำความเข้าใจกับปัจจัยที่ซับซ้อนมากขึ้น

09 ก.ค. 2566 | 08:28 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2566 | 08:29 น.

ทำไมบางทีข่าวดีแล้วตลาดเท !! ทำความเข้าใจกับปัจจัยที่ซับซ้อนมากขึ้น :คอลัมน์ Investing Tactic น.สพ. ศราวิน  สินธพทอง วิทยากรพิเศษ โครงการ SITUP

คุณเคยประหลาดใจกับเหตุการณ์ที่ตลาดตอบรับไปในทิศทางที่ไม่คาดคิดหลังจากได้รับข่าวดีทางเศรษฐกิจหรือไม่  ในบทความนี้จะพาคุณให้เข้าใจเรื่องของ Hawkish และ Dovish  ปรากฏการณ์ที่เกิดจากมาตรการของธนาคารกลางของแต่ละประเทศ  ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจในสภาวะทางเศรษฐกิจอย่างถูกต้องและนำไปสู่การจับจังหวะลงทุนที่มั่นใจ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สภาวะตลาดที่ 1 เมื่อโลกนี้ช่างสดใส  เมื่อดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจชี้ไปในทิศทางที่ดี เช่น GDP สูงขึ้น  อัตราการว่างงานต่ำ และ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูง  จะทำให้มุมมองของคนในตลาดไปในทิศทางบวก  นักลงทุนจะเข้ามาในตลาดจำนวนมาก เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจมีความแข็งแรง แล้วเกิดการซื้อ ซึ่งนำไปสู่ราคาที่สูงขึ้น และทุกคนมีความสุข หุ้นกลุ่มที่มักได้ผลประโยชน์มากในช่วงนี้คือ หุ้นเติบโต หุ้นเทคโนโลยี  รวมถึง หุ้นกลุ่มบริการ และ สินค้าอุปโภคบริโภค

สภาวะตลาดที่ 2 ถึงคิวของเหยี่ยว  อย่างไรก็ตาม  ในบางครั้ง ตลาดกลับตอบสนองกับข่าวดีด้วยการเทขาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของความกังวลต่อท่าทีของธนาคารกลางที่อาจจะเปลี่ยนไปดำเนินนโยบาย Hawkish หรือ เหยี่ยว ซึ่งมีบุคคลิกก้าวร้าว และ เด็ดขาด มุ่งเน้นไปที่การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และ รักษาเสถียรภาพของราคา ธนาคารกลางจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หรือ ลดมาตรการกระตุ้นทางการเงินเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรง จากการเก็งกำไร จนสินทรัพย์ต่างๆ มีราคาสูงขึ้นเร็วมากเกินไป จนเงินหมุนเวียนไม่ทันนั่นเอง

สภาวะตลาดที่ 3 ปฏิกิริยาของตลาด  ตลาดจะตีความนโยบาย Hawkish ว่าเป็นสัญญาณจากธนาคารกลาง โดยธนาคารกลางอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในอนาคต อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน  ส่งผลให้ราคาหุ้น เริ่มลดลง  นักลงทุนจะกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะการเงินที่เข้มงวดขึ้นในตลาดโดยรวม  ทำให้พวกเขาขายหุ้นและเปลี่ยนไปสู่การลงทุนที่ ปลอดภัยมากกว่า เช่น ถือเงินสด หรือ พันธบัตร  หรือ หุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภค และโรงพยาบาล  ที่มักได้รับผลกระทบน้อยในตลาดขาลง รวมทั้งหลีกเลี่ยงภาคการเงิน และอสังหาริมทรัพย์

ทำไมบางทีข่าวดีแล้วตลาดเท!! ทำความเข้าใจกับปัจจัยที่ซับซ้อนมากขึ้น

สภาวะตลาดที่ 4  การเปลี่ยนไปเป็นพิราบ  หลังจากการร่วงลงของตลาด พร้อมกับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลง  ธนาคารกลางจะประเมินจุดยืนอีกครั้ง และ ปรับใช้นโยบายที่ผ่อนปรนมากขึ้น  การเปลี่ยนแปลงนี้เรียกว่า Dovish turn  ซึ่งมาจากบุคคลิกของนกพิราบที่มีทีท่าเป็นอิสระ  ซึ่งก็จะผ่อนปรนมาตรการโดยเน้นกระตุ้นการจ้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าควบคุมอัตราเงินเฟ้อ  โดยธนาคารอาจจะลดอัตราดอกเบี้ย  หรือ เพิ่มมาตรการกระตุ้นทางการเงินโดยคาดหวังให้คนกลับมาจับจ่าย และเริ่มนำเงินออกมาลงทุนมากขึ้น

ในช่วงนี้ ข่าวร้ายในตลาดจะมีมาก และนักลงทุนส่วนใหญ่จะยังผิดหวังอยู่กับตลาดที่ยังเป็นขาลงอยู่ และส่วนหนึ่งจะเริ่มทะยอยกลับเข้าซื้อหุ้นที่คาดหวังว่าจะเติบโตหลังการฟื้นตัวจากตลาดขาลง ซึ่งมักเป็นหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม  และ เทคโนโลยี  ซึ่งจะสังเกตุว่าในข่าวร้ายของดัชนีทางเศรษฐกิจ กลับมีหุ้นบางกลุ่มเริ่มกลับตัวขึ้น จนบางครั้งเกิดเป็นปรากฏการณ์ ข่าวร้ายหุ้นขึ้นได้เช่นกัน

 สภาวะตลาดที่ 5 การฟื้นตัวของตลาด  การดำเนินนโยบายแบบพิราบ จะส่งสัญญาณถึงสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนตลาด  อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืม และ การลงทุน นำไปสู่การจับจ่ายที่มากขึ้น  และ ขยายกิจการ ความเชื่อมั่นในเชิงบวกนี้ จะช่วยให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวจากขาลง  ก่อนที่จะเริ่มกลับเข้าสู่ขาขึ้น นักลงทุนเริ่มฟื้นความเชื่อมั่น และกลับเข้าสู่ตลาด และผลักดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นอีกครั้ง  ซึ่ง ณ ตอนนี้ ตลาดหุ้น จะกลับตัวจากจุดต่ำสุดไปประมาณหนึ่งแล้ว และนักลงทุนบางกลุ่ม เริ่มเข้าเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ และ การเงิน  ตามการฟื้นตัวของการบริโภค

การวิเคราะห์สัญญาณของธนาคารกลาง  เพื่อคาดการณ์ และ ตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของตลาด เทรดเดอร์จำเป็นต้องวิเคราะห์สัญญาณของธนาคารกลางให้ดี  สัญญาณเหล่านี้อาจรวมถึงการแถลงนโยบาย  การแถลงข่าว ท่าที และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจ การติดตามตัวบ่งชี้เหล่านี้อย่างใกล้ชิดนักลงทุนจะสามารถรับความรู้สึกถึงจุดยืนของธนาคารกลาง  และ การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่อาจเกิดขึ้น  ซึ่งการวิเคราะห์นี้ช่วยให้นักลงทุนปรับกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างเหมาะสมกับสภาวะตลาดต่างๆ

วงรอบของ เศรษฐกิจเหล่านี้ มีระยะเวลาไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสถาณการณ์ต่างๆ ที่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น  อาจกินเวลา 2 – 10 ปีก็ได้  และ ในแต่ละประเทศก็อาจอยู่คนละช่วงก็ได้

ความเป็นจริงในปัจจุบัน  มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลของตลาดที่ ซับซ้อนมากขึ้น เช่น อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศและภายนอกประเทศที่ไม่เท่ากันอาจมีผลต่อการไหลของกระแสเงินลงทุน ซึ่งก็จะมีผลต่อตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการเมือง และนโยบายระหว่างประเทศ    ตลาดอาจไม่ได้ตอบสนองต่อข่าวและเหตุการณ์ในแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตทุกครั้ง 

รวมทั้งยังอาจมีการค้นพบรูปแบบความสัมพันธ์ของพฤติกรรมราคากับเหตุการณ์ต่างๆมากขึ้น  อย่างไรก็ตามการทำความเข้าใจกับโมเดลต้นแบบเหล่านี้ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้การศึกษาต่อยอดในเรื่องของการจับจังหวะการลงทุนได้ชัดเจนและเป็นระบบมากขึ้น

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,903 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566