เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.9% YoY นั่นแปลว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน ที่ระดับ 5.00-5.25% อยู่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแล้ว ซึ่งสะท้อนได้ว่า นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตึงตัวมาจนใกล้สุดทาง และน่าจะเข้าสู่ช่วงของการหยุดขึ้นดอกเบี้ย (Pause) โดยทาง CME FedWatch Tool ก็มีมุมมองของตลาดที่ประเมินว่าความน่าจะเป็นของการคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย. ไว้สูงราว 80%
ซึ่งแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะมีโอกาสหยุดขึ้น แต่ Fed ก็ไม่น่าจะรีบเร่งในการปรับลดดอกเบี้ยลงมา ในขณะที่ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังค่อนข้างตึงตัว และ Fed น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อให้แน่ใจว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องสู่เป้าหมายที่วางไว้
หลังจากปี 2565 ที่ดอกเบี้ยมีทิศทางขาขึ้นที่ต่อเนื่องและรวดเร็ว กลายมาเป็นปัจจัยกดดันหลักต่อการลงทุนในตลาดหุ้นโลก แต่ปี 2566 นี้ ยังมีความเชื่ออยู่ว่า การตึงตัวนโยบายการเงินที่ใกล้สุดทางของ Fed น่าจะเอื้อต่อการฟื้นตัวของตลาดหุ้น แต่ก็มีข้อสังเกตและมองเห็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ตลาดหุ้นโลกมีความผันผวนมากขึ้นในระยะสั้นถึงกลาง ระหว่างเส้นทางของการฟื้นตัวในระยะยาว
ขณะที่ ดัชนี KBW Regional Bank Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ลงทุนในหุ้นธนาคารขนาดกลาง-เล็ก (Regional Bank) ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงมากถึง 31.5% ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2566 และยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของราคา ทำให้เห็นได้ว่า นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นต่อการลงทุน และมีความกังวลต่อปัญหาสภาพคล่องในระบบธนาคารของสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่ม Regional Bank อย่างไรก็ดี การเข้าซื้อกิจการ FRC โดย JP Morgan เป็นการแสดงให้เห็นว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐฯ มีความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาสภาพคล่องลุกลามบานปลาย
ปัญหาเพดานหนี้หรือ Debt Ceiling ของสหรัฐฯ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องติดตาม หลังจาก รมว. คลังของสหรัฐฯ ออกมาเตือนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะขาดสภาพคล่องเร็วสุดช่วงต้นเดือน มิ.ย. (X-date) ซึ่งจริงๆแล้ว ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ อีกทั้งเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต แต่ก็ถูกแก้ไขได้ในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ดี การเจรจาของทั้งสองพรรค คือ พรรคเดโมแครต (Democratic Party) และพรรคริพับลิกัน (Republican Party) ก็จำเป็นต้องใช้เวลา และมักจะหาทางออกร่วมกันได้ในช่วงใกล้กำหนดเส้นตาย ซึ่งนั่นอาจทำให้ระหว่างทางจากนี้ บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นอาจได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อความไม่แน่นอนดังกล่าว
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน SCBAM ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตราสารทุนในระยะยาว แต่ด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนในช่วงนี้ ทำให้นักลงทุนต้องเลือกเฟ้นสินทรัพย์ในการลงทุน (Selective) เช่น การคัดเลือกหุ้นด้วยปัจจัยเชิงคุณภาพ (Quality) คือ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ในระดับสูง, ผลประกอบการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ, อัตราส่วนการกู้ยืม (Financial Leverage) อยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ การกระจายความเสี่ยง คือ หัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งของการลงทุน ไม่ว่า จะเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย หรือประเทศ หรือภูมิภาคที่แตกต่างกัน รวมถึง การผสมผสานสินทรัพย์หลายประเภททั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน และสินทรัพย์ทางเลือก ในพอร์ตลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาวะความผันผวนของตลาดหรือเหตุการณ์ที่อาจเกิดได้แบบไม่คาดฝัน
แม้ว่า โอกาสสำหรับการลงทุนในตราสารทุนปีนี้ เปิดกว้างกว่าปีก่อน แต่ระยะสั้นแล้ว ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนยังจำเป็นต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน