ปฏิบัติการ”แผนซ้อนแผน” ซื้อขายหุ้น MORE ได้เสีย 3 พันล้านไม่ถึง 1 นาที

12 พ.ย. 2565 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2565 | 12:15 น.

“เอกพิทยา เอี่ยมคงเอก” เผยปฏิบัติการ”แผนซ้อนแผน” ซื้อขายหุ้นได้เสีย 3,000 ล้านไม่ถึง 1 นาที หลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกโรงเตือนนักลงทุน ซื้อขายหุ้น MORE

หลังจากที่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาเตือนผู้ลงทุนให้ระมัดระวังก่อนตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) (MORE) เนื่องจากเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 สภาพการซื้อขายมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดปกติ โดยเปิดตลาดที่ ราคา 2.90 บาท จากนั้นราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนราคาต่ำสุด (Floor) ที่ราคา 1.95 บาท

 

โดยตลอดทั้งวันมีมูลค่า ซื้อขายสูงถึง 7,142 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด (SET และ MAI)  ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สอบถามพัฒนาการที่อาจส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย โดย MORE ได้ชี้แจงผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงก่อนเปิดการซื้อขายภาคบ่ายว่าไม่มีพัฒนาการสำคัญใดๆ

 

อย่างไรก็ตาม เช้าวันนี้ (11 พฤศจิกายน 2565) ราคาลดลงต่อเนื่อง เปิดตลาดที่ราคา Floor 1.37 บาท และปิดตลาดภาคเช้าที่ราคาดังกล่าว

MORE

หากราคามีความผันผวน ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงในการซื้อขายได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาปัจจัยพื้นฐานและสารสนเทศที่แจ้งผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน และขอให้บริษัทสมาชิกกำกับดูแลการซื้อขายและการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ MORE อย่างใกล้ชิดและเคร่งครัด เพื่อป้องกันการส่งคำสั่งซื้อขายที่อาจไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

นายเอกพิทยา เอี่ยมคงเอก กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอกการลงทุน จำกัด เปิดเผยในรายการ “Market Price ส่องหุ้น” เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2565 ว่า กรณีดังกล่าวทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องปราบเพื่อไม่ให้เกิดอย่างที่มีกระแสข่าวเมื่อวาน (10 พ.ย.) ซึ่งไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง แต่ความเสียหายจากราคาหุ้นเกิดขึ้นแล้ว

 

มีนิทานเรื่องหนึ่งเล่าให้ฟัง มีชื่อว่า “แผนซ้อนแผน” งานนี้ได้เสียกัน 3 พันล้าน ไม่ใช่แค่วันเดียวแต่ไม่ถึง 1 นาที ซึ่งมันอาจจะเกิดในอดีตที่ผ่านมา หรืออาจจะไม่ได้เกิดในประเทศไทย ประเด็นคือ จะมีหุ้น 1 ตัว และสิ่งที่เกิดขึ้นในหุ้นตัวนี้ก็คือ ต้องการที่จะสร้างราคา ซึ่งก็ไม่ผิด ก็มีธุรกิจที่จะเอาเข้ามา แล้วก็มีกำไรจากเดิมที่ไม่มีกำไร แล้วก็มีกำไรโตขึ้น คนก็สนใจเยอะ ราคาหุ้นก็มีการปรับตัวสูงขึ้น

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นราคาหุ้นก็ขึ้น คนก็ไปลงทุน พอราคาขึ้นไป ทุกคนก็กำไรหมด แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คนที่เข้าไปซื้อเยอะๆ มันจะขายออกให้ใครละ ถ้าต้องการขายออกในระยะกลางหรือยาว จะต้องมีคนมาซื้อแต่ถ้าไม่มีคนมาซื้อ สมมติมีการซื้อหุ้นไปเยอะๆ

เอกพิทยา เอี่ยมคงเอก

ยกตัวอย่าง หุ้นบ้านเราธนาคารพาณิชย์ไม่มีคนเป็นเจ้าของตายตัวทุกคนซื้อ 2 - 4% แต่ลองนึกภาพดูถ้ามีหุ้นใหญ่ใหญ่แล้วมีคนถือ 70% - 80% ถ้าเราต้องการเงินเราจะขายให้ใคร ก็ขายไม่ได้เพราะว่า ประวัติที่มันเกิดขึ้นมันเพิ่งเกิดขึ้นในระยะสั้น มันไม่ได้เป็นหุ้นที่เป็น blue chip ตั้งแต่ในอดีต แล้วจะทำยังไง

 

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หุ้นตัวนั้นต้องการใช้เงินเพราะต้องการใช้เงินต่อเงินในธุรกิจเดียวกันอยู่กันแบบนี้ด้วย

 

คำถามคือแล้วจะทำยังไง ก็มีสตอรี่ขึ้นมา ต้องการใช้เงินก็ใช้วิธีการขายบนกระดาน แปลกใจไหม? ขายบนกระดานแล้วสภาพคล่องมันจะพอได้ยังไง ลองคิดดูว่าว่าสภาพคล่อง 50 -100 ล้าน มีอยู่แล้ว แล้วถ้าสภาพคล่อง 4-5 พันล้าน สภาพคล่องจะเกิดได้ยังไง

 

ไม่มีถ้าคุณไม่ได้ติดต่อกับกองทุนหรือรายใหญ่ที่จะโยนกันเอง

 

เพราะฉะนั้น สตอรี่มันต้องเกิดขึ้น มีคีย์ผิดบ้างใช้เงินบ้าง หรือจะให้เพื่อนไปรับซื้อในราคาที่ถูกกว่า หรือมีนักลงทุนที่สนใจมาซื้อบ้างเผอิญนักลงทุนที่สนใจไปเปิดบัญชี เงินสด (Cash Account)

 

บัญชีปัจจุบันมี 3 แบบ

  • บัญชีเงินสด (Cash Account)

เป็นบัญชีแบบที่เราวางเงินไว้กับทางโบรกเกอร์แค่ 20% ก็สามารถซื้อหุ้นได้ก่อน แล้วหลังจากนั้นเราก็ต้องโอนเงินเต็มจำนวนภายใน 3 วันทำการ (T+3) หลังจากวันซื้อ แต่ถ้าเราไม่โอนภายในเวลาที่กำหนดก็จะโดนค่าปรับ ในกรณีขายหุ้นก็เช่นกัน เราจะได้รับเงินเข้าบัญชีหลังจากทำการขายไปแล้ว 3 วันทำการ

 

  • บัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance)

เป็นบัญชีแบบที่เราจะต้องเอาเงินสดไปฝากไว้กับโบรคเกอร์ก่อนถึงจะทำการซื้อหุ้นได้ โดยจะซื้อขายได้เท่ากับเงินที่เราฝากเข้าไปในบัญชีเท่านั้น และเงินที่อยู่ในบัญชี ถ้าเราไม่ได้นำไปซื้อหุ้นก็จะได้รับดอกเบี้ยด้วย เพราะว่าง่ายแล้วก็ไม่ทำให้เราเทรดจนเกินตัว พูดง่าย ๆ ว่ามีเงินอยู่เท่าไหร่ก็ซื้อหุ้นได้เท่านั้นแหละ บัญชีแคชบาลานซ์เลยเป็นบัญชีขวัญใจมือใหม่โดยปริยาย

 

  • บัญชีมาร์จิน (Margin Account)

เป็นบัญชีที่เราสามารถกู้ยืมเงินจากโบรกเกอร์มาซื้อหุ้นได้ แต่จะต้องวางเงินสดหรือหุ้นเป็นหลักประกันการชำระหนี้ในอัตราส่วนขั้นต่ำที่โบรกเกอร์กำหนดไว้ ซึ่งโบรกเกอร์ก็จะคิดดอกเบี้ยเงินที่เรากู้ไปซื้อหุ้นด้วย วงเงินกู้ยืมที่เราจะได้รับอาจเพิ่มลดตามราคาหุ้นที่เราวางไว้เป็นหลักประกัน ถ้าราคาหุ้นที่เราเอามาค้ำต่ำลงไปมากๆ โบรกเกอร์ก็อาจจะเรียกให้เราเอาเงินมาเติม ไม่ก็อาจจะบังคับขายหุ้น (Force Sell) เพื่อให้ยังคงรักษาระดับอัตราส่วนหลักประกันขั้นต่ำไว้

 

บัญชีมาร์จิน (Margin Account) กับ บัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance) ไม่ต้องพูดถึง ก็มีเงินมาฝากกับตัวอยู่ละ หรือฝากแล้วจะเล่นเกินหรือเล่นไม่เกินก็มี MANAGEMENT MARGIN อยู่แล้ว

 

แต่ส่วนของบัญชีเงินสด (Cash Account)  ในสมัยอดีตเป็นบัญชีที่เราวิเคราะห์วงเงินกับลูกค้าว่า คนนี้มีเครดิต แล้วก็ T+3 กับ T+4 ขึ้นไป สมมติซื้อขายกันวันเดียว แต่ในยุคใหม่ มันมีเกณฑ์ที่เข้มข้นมากขึ้น คือคุณต้องมี Deposit

 

สมมติเราฝากเงิน 200 บาทเราจะเล่นได้เท่าไหร่ก็ควรจะเล่นได้สองเท่าหรือ 1,000 บาท เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมันก็เกิดบัญชีแบบนี้เกิดขึ้นซึ่งไม่รู้  รู้จักกันหรือไม่รู้จักกัน ซึ่งความบังเอิญที่เกิดขึ้น โบรกเกอร์ก็ปล่อยให้เปิดบัญชี เปิดไปเปิดมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่ามันมีอาการคนนึงก็คีย์พลาด คนนึงก็มือลั่นมันไปแมตช์กันพอดี

 

พอแมตช์กันสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หุ้นวันนี้ volume มันก็ทะลักขึ้นมาขึ้นมา คนขายก็ควรจะได้เงินถูกไหม? จริงๆได้เงินหรือเปล่าก็ไม่รู้ ก็ต้องถามผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจจะมีการเรียกประชุม เพราะว่าเวลาคุณขายคุณต้องได้เงินอยู่แล้ว แต่เวลามีคนซื้อคุณก็ต้องจ่ายเงินแต่คนซื้อคือ T+3 บัญชีบัญชีเงินสด (Cash Account)   มันจะมีเวลาที่เหลื่อมกัน งานนี้ปลาเล็กตกปลาใหญ่ เหมือนกับเราใช้เงิน 20 ตก 100 บาท หรือ 20 ตก 2,000 บาท มันเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ได้อย่างไร?

 

แต่ประเด็นที่เกิดขึ้น มันต้องมีคนไม่จ่ายหรือจ่ายเลย ยังไงเกิดอะไรขึ้น?

 

ประเด็นที่เกิดขึ้นมันมีอยู่ 3 ปาร์ตี้

 

1. คนขายจะได้เงินหรือไม่? ถ้าเป็นแคชบาลานซ์ ขายแล้วก็เบิกเงินได้เลย หรือแย่สุดก็ T+2 เลย T+2 ไม่ได้ เพราะเราขายหุ้น และราคาเอสคิวด้วย

 

2. คนที่ซื้อจะหายไปไหม? เพราะในอดีตเคยมีมาแล้ว เชื่อไหมว่าในอดีตเคยเอาบัญชีคนตายมาเปิด เพราะเมื่อก่อนเปิดบัญชีแคช มันไม่ต้องวาง Deposit มันซื้อขายวันเดียวแล้วก็หายไปเลย คนซื้อหายไปรึเปล่าก็ไม่รู้ แต่คนซื้อในทางกฎหมายมีภาระที่จะต้องชำระเงินเพราะตัวเองจัดซื้อ

 

3. โบรกเกอร์ทำยังไงดี? ด้วยความเสียหายมันเยอะ สมมติคุณไม่ได้ค่าคอม ล้านละร้อยหรือล้านละสองร้อย เพราะเค้าเป็นรายใหญ่ แต่งานนี้สมมติ ถ้าเกิดวงเงินมันเกิดเป็น 4 - 5 พันร้อยล้านอ่ะ Deposit ไว้แค่ 20% ทำยังไงอะ?

 

ทำให้เกิดคำถาม เนื่องจากคนขายยังไงก็ได้เงินคนซื้อก็ต้องจ่ายเงิน แต่เมื่อคนซื้อยังไม่จ่ายคนขายยังไม่ได้เงิน ตัวกลางอย่างโบรกเกอร์ต้องจ่ายทั้งสองฝั่งหรอ?

 

สมมุติเราขายในบัญชีแคชบาลานซ์วันนี้ พรุ่งนี้ก่อน 11 โมงเราต้องได้เงิน พรุ่งนี้ต้องเบิกเงินได้ ถ้าอยู่ในมาร์จิ้นก็ปิดบัญชีมาร์จินและถ้ามีการถอนยังไง แต่ถ้าอยู่ในแคช T+3 ก็ได้เงิน แต่เช็คก็ได้ T+2 แล้วสามารถมีการระงับไว้ก่อนได้ไหม? ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพียงแค่เรื่องเล่าเรื่องจริงเป็นอย่าไรไม่ทราบ

 

แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงในสถานการณ์ปัจจุบันมันจะเสียหายมากเลย ซึ่งไม่ใช่ความผิดพลาดแต่เป็นความตั้งใจ มันคือความตั้งใจเกิดขึ้นใช่ไหม? มีการเห็นช่องว่างแล้วเอาผลประโยชน์อย่างนี้

 

อันนี้เป็นนิทานที่เค้าเล่ากันมา กลัวว่านิทานเรื่องนี้มันจะกลับมาในตลาดหุ้นไทยจริงๆ เข้าใจว่าตอนนี้ผู้มีอำนาจก็คงพยายามประชุมกันให้เคลียร์ว่าจะทำยังไง? แล้วมีแผนออกมาด้วยซึ่งไม่รู้ว่าแผนที่ออกมาในเชิงกฎหมายทำได้จริงหรือเปล่า? เพราะว่าสู้ตามกฎหมายเค้าต้องได้ คนซื้อกับคนขายต้องทำตามปกติ

 

เพราะฉะนั้น สตอรี่มันมีที่มาที่ไปทั้งหมด พอเวลามีคนมาฟัง ก็จะตั้งคำถามว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงไหม? มันเป็นอย่างนี้จริงไหม?

 

นิทานเรื่องนี้ก็สอนให้เรารู้ว่า ถ้าเราไม่ชอบ เราก็อย่าไปดู แต่ถ้าเกิดเราชอบ เราก็ต้องรู้ว่าส่งเหล่านี้มันจะจบหรือมันจะเริ่มต้นยังไง