‘ภาษีขายหุ้น’ป่วนตลาด ต้นทุนพุ่ง เทรดเดอร์หาย

07 ธ.ค. 2565 | 09:19 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2565 | 16:19 น.

ปมภาษีขายหุ้นยังไม่จบ สรรพากรแจง ต้นทุนธุรกรรมในตลาดเพิ่มจาก 0.17% เป็น 0.22% แต่ยังแข่งขันได้ FETCO ชี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เหตุปัจจัยลบรุมเร้าตลาด ด้านเทรดเดอร์หวั่นต้นทุนพุ่ง ไม่คุ้มค่าลงทุน ต้องออกจากตลาด

ยังมีกระแสต่อต้านจากคนในวงการตลาดหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้กลับไปจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.10% ตามกฎหมายเดิม ซึ่งในปีแรกจะจัดเก็บเพียงครึ่งหนึ่งหรือในอัตรา 0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น โดยจะให้เวลาเตรียมตัว 3 เดือนก่อนเริ่มเก็บจริง

 

ล่าสุดนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ ในฐานะประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย  (FETCO) ออกมาระบุว่า FETCO ได้ทักท้วงเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และเห็นว่าขณะนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือน้อยกว่าครึ่งของก่อนหน้า

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย

 

 

ขณะเดียวกัน ยังเป็นช่วงที่ตลาดผันผวนปั่นป่วนอย่างยิ่งในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร ทองคำ ค่าเงิน และสินทรัพย์ใหม่ เช่น เงินคริปโต ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน และจะผันผวนไปอีกระยะ นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นรออยู่ข้างหน้า ซึ่งเริ่มเห็นถึงเค้าลางในบางประเทศแล้ว

‘ภาษีขายหุ้น’ป่วนตลาด ต้นทุนพุ่ง เทรดเดอร์หาย

 

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรระบุว่า การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในอัตรา 0.055% ในปีแรก จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8 พันล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 1.6 หมื่นล้านบาทในปีต่อๆไป เมื่ออัตราการจัดเก็บกลับมาที่ 0.11% ภายใต้ประมาณการมูลค่าการซื้อขายหมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์เฉลี่ย 4 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2564 ทั้งสิ้น  16.07 ล้านล้านบาท

 

 

“การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะคิดเหมือนกับอัตราค่านายหน้าซื้อขายหุ้นที่โบรกเกอร์คิดจากลูกค้าคือ มูลค่าขายเท่าไหร่ ก็หักค่าภาษีในอัตรา 0.055% ไว้ เพื่อนำส่งสรรพากร อย่างมูลค่าการขายหุ้นวงเงิน 1 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษี 550 บาท และปีต่อๆไปจะเพิ่มเป็น 0.11% หรือขายหุ้น 1 ล้านบาทต้องจ่ายภาษี 1,100 บาท”แหล่งข่าวกล่าว

 

ขณะที่อัตราค่านายหน้าซื้อขายหุ้น สำหรับนักลงทุนรายย่อย  ปัจจุบันโบรกเกอร์หลายแห่งใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการแข่งขัน โดยคิดค่านายหน้าประมาณ 0.04% หรือ 1 ล้านบาท จะมีค่านายหน้า 400 บาท ส่วนนักลงทุนรายใหญ่ มูลค่าซื้อขายสูง สามารถต่อรองค่านายหน้าเหลือประมาณ 0.02% หรือล้านละ 200 บาท ขณะที่การซื้อขายด้วย Robot หรือปัญญาประดิษฐ์จะจ่ายค่านายหน้าเพียง 0.01% เศษเท่านั้น

 

ดังนั้นอัตราภาษีขายหุ้นจึงสูงกว่าอัตราค่านายหน้าซื้อขายหุ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ของไทยสูงขึ้น จาก 0.17% เป็น 0.22% ซึ่งเป็นต้นทุนที่รวมทั้งการซื้อและขาย แต่ยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยยังต่ำกว่ามาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ 0.29% และฮ่องกง ซึ่งอยู่ที่ 0.38% แต่สูงกว่าสิงคโปร์เล็กน้อย ซึ่งอยู่ที่ 0.20% แต่ปีแรกที่จัดเก็บเพียง 0.055% ทำให้ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ 0.195% ใกล้เคียงกับสิงคโปร์  

 

ส่วนการยกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าวให้กับผู้ดูแลสภาพคล่อง หรือ (Market Maker) และกองทุนบำนาญที่มีมูลค่าการซื้อขายรวมกันไม่เกิน 15% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด เพื่อไม่ให้การจัดเก็บภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการสร้างสภาพคล่องของหลักทรัพย์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการออมเพื่อการเกษียณอายุ

 

สำหรับกองทุนบำนาญประกอบด้วยกองทุนที่ผู้จ่ายเงินสมทบหรือสะสมเข้ากองทุน สามารถหักลดหย่อนเงินสะสมและเงินสมทบดังกล่าว ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้รับจากกองทุนเมื่อเกษียณอายุ เพื่อส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ รวมถึงกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนในกองทุนให้กับกองทุนดังกล่าวเท่านั้น

 

ทั้งนี้กองทุนบำนาญคือ

  • กองทุนประกันสังคม
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  • กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
  • กองทุนการออมแห่งชาติ
  • กองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนให้กับสำนักงานประกันสังคม

 

ขณะที่ Market Maker ผู้ดูแลสภาพคล่องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกและได้รับการรับรองการเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องจากสมาชิก โดยมีหน้าที่ทำการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีราคาปรากฎในระบบการซื้อขายอย่างต่อเนื่องและมีสภาพคล่อง โดยที่ต้องเป็นการขายหุ้นที่ดูแลเท่านั้น หากจะไปขายหุ้นตัวอื่นก็เข้าเงิื่อนไขต้องเสียภาษีจากการขายหุ้นเช่นกัน

 

สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ทำความเห็นว่า การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้กับกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนให้สำนักงานประกันสังคมและกองทุนบำนาญ อาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการยกเว้นภาษีธุรกิจ เฉพาะที่เป็นการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ นอกจากนี้จากสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผันผวน จึงเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามและประเมินผลกระทบของมาตรการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

 

ส่วนสำนักงบประมาณเห็นว่า เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการภาษีดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เห็นควรที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการภาษีดังกล่าว รวมถึงสถานการณ์ความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรก

 

นายกระทรวง จารุศิระ เทรดเดอร์กล่าวว่า การเก็บภาษีขายหุ้นคาดว่า จะส่งผลกระทบต่อการเก็งกำไรและทำให้มูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่มเทรด)ลดลง เพราะนักลงทุนที่เทรดระยะสั้นปกติ จะมีเสียค่าคอมมิชชั่นที่สูงอยู่ที่ล้านละ 1,500 บาท และเมื่อรัฐเก็บภาษีขายหุ้นก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มอีกล้านละ 1,000 บาท รวมมีต้นทุนในการเทรดหุ้นอยู่ที่ 2,500 บาทต่อการซื้อขาย 1 ล้านบาท

นายกระทรวง จารุศิระ เทรดเดอร์

 

ดังนั้น อาจจะทำให้เทรดเดอร์มองว่า ไม่คุ้มค่า เพราะคนที่เทรดหุ้นระยะสั้นนั้น ต้องเฝ้าหน้าจอตลอดสุดท้ายผลกระทบก็จะเป็นลูกโซ่ เมื่อคนเทรดหุ้นหายออกไปจากตลาด จะทำให้วอลุ่มเทรดในตลาดหุ้นไทยลดลง ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ภาครัฐอาจจะยกเลิกการเก็บภาษีขายหุ้นได้ เนื่องจากดูแล้วไม่คุ้มค่า

 

“การเก็บ Transaction Tax นั้น เก็บทั้งผู้ที่ขายแล้วขาดทุนด้วย ทำให้เทรดเดอร์ที่เทรดแล้วขาดทุนก็จะหายไปจากตลาด โดยเฉพาะเมื่อภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย”นายกระทรวง กล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,841 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2565