ตลท.ยกเครื่อง"เกณฑ์ซื้อขาย-รับหลักทรัพย์" ป้องกันซ้ำรอยหุ้น MORE

10 ม.ค. 2566 | 02:50 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2566 | 10:03 น.

ตลท. ปรับเกณฑ์ "การซื้อขายหุ้น-รับหลักทรัพย์-การชำระราคาหุ้น " หวังเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นจากผู้ร่วมตลาด ป้องกันซ้ำรอยกรณีหุ้น "MORE"

 

จากกรณีการผิดนัดชำระหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) มูลค่าเกิน 4 พันล้านบาท ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ย.2565 ซึ่งสร้างความเสียหายแก่โบรกเกอร์ และวงการตลาดทุนไทย  ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาหารือเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งตลาดหลักหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย( ตลท.) ถือเป็นด่านหน้าในการป้องกัน

 

นายภากร ปีตธวัชชัย  กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนพ.ย.2565 ถือว่าเป็นเดือนพ.ย.ทมิฬ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องกลับไปพิจารณาและปรับปรุง ทั้งกระบวนการว่าจะทำอย่างไรให้ในอนาคตตลาดทุนไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ร่วมตลาดมากขึ้น โดยตลาดหลักทรัพย์ ฯอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนกฎเกณฑ์ทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังนี้


 

เรื่องแรก คือการพิจารณาความเหมาะสมของหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ของทั้ง SET , mai และตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVE Exchange : LiVEx ) ว่าจะต้องปรับปรุงอย่างไรบ้างเพื่อให้เหมาะสมมากขึ้นในอนาดต 

 

ประเด็นที่สอง  คือ ปรับเกณฑ์การซื้อขาย การชำระราคา และการส่งมอบหลักทรัพย์ ต้องปรับปรุงอย่างไรบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลในอนาคตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น โปรแกรมเทรดดิ้ง อินเตอร์เน็ตเทรดดิ้ง การซื้อขายที่มากขึ้นของนักลงทุนต่างประเทศที่มากขึ้น

 

ประเด็นที่สาม คือการพิจารณาปรับกรุงกระบวนการตรวจสอบข้อมูล รวมถึงแก้ไขเกณฑ์การใช้ข้อมูลสำคัญๆ เช่น การถือครองหุ้น ,การติดต่อกับบริษัทหลักทรัพยด้านต่างๆ เป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์จะทำมากขึ้น เช่น เครดิตบูโร ของบล.ต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการประกอบธุรกิจ

 

 

ประเด็นที่สี่  การกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆทั้งภาครัฐและเอกชน จะทำอย่างไรให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเร็วขึ้น เพราะหากไม่รีบประสานกันแก้ไข ผลกระทบรุนแรงมาก

 

"แผนงานที่ตลาดหลักทรัพย์ ฯ จะทำประกอบด้วย งานระยะสั้น การทบทวนการพิจารณาความเสี่ยงลูกค้าร่วมกับโบรกเกอร์ เพื่อให้มีข้อมูลกลางที่โบรกเกอร์สามารถนำไปใช้ได้ และแผนงานระยะยาว เช่น เร่งปรับปรุงกฏเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อลดและป้องกันความเสี่ยง "