ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ ที่ระดับ 32.77 บาทต่อดอลลาร์

25 ม.ค. 2566 | 00:52 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2566 | 05:16 น.

เงินบาทผันผวนมีธุรกรรมเบาบางกว่าปกติในวันหยุดตรุษจีน ควรระวังความผันผวนช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุมของ กนง.วันนี้ อาจกดให้อ่อนค่า -ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจขายทำกำไรบอนด์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้( 25ม.ค.2566) ที่ระดับ 32.77 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.83 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แรงขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน

คือ ปัจจัยที่ช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา ส่วนในวันนี้ เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงที่ธุรกรรมในตลาดการเงินยังคงเบาบางกว่าปกติ เนื่องจากผู้เล่นในหลายตลาดอยู่ในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยมีแนวต้านในช่วงนี้แถว 32.90-33 บาทต่อดอลลาร์ (โซนที่ผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์) ส่วนแนวรับจะยังคงเป็นโซน 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์และโฟลว์ขายทำกำไร Short USDTHB

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุมของ กนง. เพราะหากท่าทีของ กนง. เริ่มส่งสัญญาณอยากชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลงบ้าง หรือ ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทผันผวนฝั่งอ่อนค่าลงได้บ้าง และผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจขายทำกำไรบอนด์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หลังบอนด์ยีลด์ได้ปรับตัวลงมาพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา (Sell on Fact)

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.85 บาท/ดอลลาร์

แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเผชิญความผันผวนจากปัญหาด้านเทคนิคของระบบในช่วงแรกของการซื้อขาย ทว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ

 

ล่าสุด อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการโดย S&P Global ในเดือนมกราคม ก็ปรับตัวขึ้นดีกว่าคาด ส่งผลให้บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยดัชนี Down Jones ปรับตัวขึ้น +0.31% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.07%

 

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.24% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งผู้เล่นในตลาดประเมินว่า มีโอกาสที่ ECB จะขึ้นดอกเบี้ยราว +0.50% ในการประชุม 2 ครั้งหน้าได้

 

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในเดือนมกราคมที่ปรับตัวสูงขึ้น ดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจยูโรโซนที่ไม่ได้ซบเซาลงหนัก อย่างที่ผู้เล่นในตลาดเคยกังวล

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102 จุด ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังคงเผชิญแรงขายทำกำไรในจังหวะการรีบาวด์

 

เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หรือ ขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25% ในการประชุมเฟดสัปดาห์หน้าได้ ตามการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ และภาพรวมเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดี แรงขายทำกำไรการรีบาวด์ของเงินดอลลาร์ ที่กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง กอปรกับ การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับ สู่โซนแนวต้านแถว 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง

 

เรามองว่า การปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านดังกล่าวของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา

 

สำหรับวันนี้ ปัจจัยที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. โดยเรามองว่า ระดับอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย   รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย

 

 ซึ่งจะยิ่งได้แรงหนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน จะเป็นปัจจัยที่ทำให้กนง. มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +25bps สู่ระดับ 1.50% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตามุมมองของ กนง. ต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคตอย่างใกล้ชิด หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มประเมินว่า กนง. อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลงได้

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของเยอรมนี ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) ในเดือนมกราคม ซึ่งตลาดคาดว่า ดัชนีดังกล่าวอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90.2 จุด ตามวิกฤตพลังงานฝั่งยุโรปที่คลี่คลายลง รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปก็ไม่ได้ซบเซาหนักอย่างที่ตลาดเคยกังวลก่อนหน้า

 

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ ASML, Boeing, Tesla และ NextEra เป็นต้น ซึ่งหากรายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจช่วยหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.76-32.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (8.55 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวเป็นกรอบ ขณะที่ตลาดรอติดตามสัญญาณดอกเบี้ยนโยบายและมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยจากในการประชุมกนง. ในช่วงบ่ายวันนี้

 

ส่วนเงินดอลลาร์ฯ ยังคงขาดปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น ประกอบกับมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากบอนด์ยีลด์ที่ปรับลดลงหลังข้อมูล PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ ยังมีสัญญาณอ่อนแอต่อเนื่อง 

 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.65-32.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม กนง. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย