โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC หนึ่งในเมกกะโปรเจกต์สำคัญของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นอกจากจะเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลักของโครงการทั้ง สนามบิน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูงแล้ว เรื่องของการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการเงิน ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ทาง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. กำลังเร่งผลักดันเช่นกัน
แผนการพัฒนาการเงินนั้น ถูกบรรจุอยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ที่ 6 คือแผนปฏิบัติการการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงิน มีโครงการสำคัญ คือ โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ
ภายใต้โครงการยักษ์นี้ กำหนดแนวทางการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการเงิน EEC ครอบคลุมทั้งตลาดเงิน และตลาดทุนสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมเป้าหมาย และธุรกิจ BCG พร้อมทั้งการสร้างศูนย์เทคโนโลยีทางด้านการเงิน (FinTech และ Green Bond) ขึ้นมาด้วย
เตรียมคลอดตลาดหุ้น EEC กลางปีนี้
หนึ่งเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการเงิน สำนักงานอีอีซี กำลังเร่งคลอดในปี 2566 นี้ นั่นคือ การผลักดันให้เกิดการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือ "การตั้งตลาดหุ้น" เพื่อรองรับการระดมทุนของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ EEC โดยกำหนดเป้าหมายเปิดซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในอีอีซี ประมาณช่วงกลางปี 2566 นี้
นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานอีอีซี เล่าให้ฟังว่า จะเร่งผลักดันเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นตามเป้าหมายกลางปีนี้ โดยที่ผ่านมาได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันความพร้อมที่จะเปิดตัวกระดานซื้อขายหลักทรัพย์ของอีอีซีโดยเฉพาะแล้ว
“การตั้งกระดานซื้อขายหุ้น EEC ขึ้นมาครั้งนี้ ถือเป็นช่องทางหนึ่งของบริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ EEC ทั้งที่อยู่ในพื้นที่อีอีซี หรือพื้นที่เชื่อมโยงก็ได้ สามารถเข้ามาใช้เป็นช่องทางระดมทุน โดยไม่เกี่ยวกับหุ้นของบริษัทแม่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ แต่ถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในกระดานหลักของ ตลท.แล้ว ก็อาจจดทะเบียนบริษัทลูกที่ทำธุรกิจในอีอีซีเพื่อเข้ามาซื้อขายหุ้นได้ เช่นเดียวกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอีอีซีก็จดทะเบียนเข้าร่วมได้เหมือนกัน” นายคณิศ ระบุ
เล็งนำร่องเทรดเป็นสกุลเงินดอลลาร์
การตั้งกระดานซื้อขายหลักทรัพย์เฉพาะบริษัทใน EEC ในระยะแรกจะนำร่องการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อน เพื่อสร้างความคล่องตัวให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการความสะดวกในการซื้อขายสกุลเงินหลัก และยังช่วยลดต้นทุนให้นักลงทุน ซึ่งไม่จำเป็นต้องแลกเป็นสกุลเงินบาทก่อนเข้ามาลงทุนด้วย
โดยเชื่อว่า แนวทางนี้น่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเข้ามาทำการซื้อขายบนกระดานนี้ และในอนาคตอาจจะดูความเหมาะสมของสลุกเงินอื่น ๆ ต่อไปตามความเหมาะสมด้วย
นายคณิศ กล่าวว่า เรื่องการสร้างศูนย์กลางธุรกิจทางด้านการเงินนี้ จะพยายามผลักดันให้เสร็จโดยเร็ว เบื้องต้นในแผนทั้งหมด จะรวบรวมรายละเอียดเสนอไปให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง โดยเชื่อมั่นว่า หากผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็วจะทำให้โครงการ EEC และประเทศไทยอยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก