SCB หนุนนักลงทุนให้ความสำคัญ ESG Rating สแกนเลี่ยงหุ้น"ฟอกเขียว"

09 ก.พ. 2566 | 22:09 น.

SCB CIO มอง Greenwashing หรือ"ฟอกเขียว"เป็นความท้าทายสำคัญของการลงทุนในธีม ESG หนุนนักลงทุนให้ความสำคัญ" ESG Rating" ก่อนตัดสินใจลงทุน

 

ดร.กำพล  อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์  จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า SCB CIO มองว่า ภาพรวมการลงทุนในกองทุนรวมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (AUM) ของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเกี่ยวกับ ESG ในปี 2559-2564 เติบโตสูง เฉลี่ยเกือบ 30% ต่อปี ผลักดันให้ส่วนแบ่งตลาดของกองทุน ESG เพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2559 มาเป็น 6% ในปี 2564 และทรงตัวในปี 2565 ซึ่งภูมิภาคยุโรปมีความโดดเด่นที่สุดเรื่องการลงทุนในกองทุนรวม ESG โดยพบว่า ส่วนแบ่งตลาดของกองทุน ESG สูงถึงเกือบ 30% ของ AUM รวมในยุโรป

ทั้งนี้ SCB CIO มองว่า  ธีมการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ESG เป็นธีมที่น่าสนใจเหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว มากกว่าคาดหวังผลตอบแทนในระยะสั้น โดยประเด็นความเสี่ยงที่มาพร้อมการเติบโตของ ESG ที่นักลงทุนต้องจับตา ได้แก่ Greenwashing หรือกระบวนการที่บริษัทต่างๆ สร้างภาพว่าปฏิบัติตามแนวทาง ESG แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น หรือเรียกสั้นๆว่าการ "ฟอกเขียว"

 

ที่ผ่านมามีกรณีตัวอย่างของกองทุนที่กล่าวอ้างว่า "คัดเลือกหุ้นโดยใช้ปัจจัย ESG " แต่ถูกตรวจสอบภายหลังพบว่าไม่เป็นความจริง ก็ส่งผลให้ถูกลงโทษ และเกิดปัญหาลูกค้าถอนเงินลงทุน ราคาหุ้นบริษัทแม่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลในหลายประเทศก็พยายามกำกับดูแลและป้องกันไม่ให้เกิด Greenwashing อยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) และจากประเด็นความท้าทายนี้เอง ทำให้นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาปัจจัยเรื่องการวัดผลด้าน ESG หรือ ESG Rating ประกอบการลงทุนมากขึ้น 

ดร.กำพล กล่าวว่า นักลงทุนมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการพิจารณา ESG Rating ในการลงทุนมากขึ้น โดยในยุโรปซึ่งมีการจัดทำมาตรฐาน ESG พบว่า ช่วงปี 2561-2564 มีเงินลงทุนไหลเข้าไปยังกองทุนรวมที่มีมาตรฐาน Article 9 (มี ESG ที่เข้มข้น) มากกว่ากองทุนรวมที่มีมาตรฐาน Article 8 (มีการส่งเสริม ESG อยู่บ้าง)

ส่วนปี 2565 ที่อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง กลุ่มนักลงทุน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทั้ง Gen Y และ Gen Z ยกให้ ESG Rating เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน รองจากผลตอบแทนจากการลงทุน

ขณะเดียวกัน เมื่อวิเคราะห์ผลตอบแทนที่พิจารณาความผันผวนด้วย (Risk-adjusted return) ของกลุ่ม ESG พบว่า สูงกว่ากลุ่ม non-ESG ยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำว่า การลงทุนในกลุ่ม ESG เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในภาวะที่เศรษฐกิจและการเงินโลกในปัจจุบันที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง

 

อย่างไรก็ตาม  ในระยะสั้น ความสัมพันธ์ของผลตอบแทนจากการลงทุนกับ ESG Rating อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ตามผลกระทบของเศรษฐกิจในช่วงนั้น เช่น ในปี  2565 ที่ราคาน้ำมันโลกเร่งตัวขึ้นมาก ส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตพลังงานจากฟอสซิลและบริษัทที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มี ESG Rating ที่ต่ำกว่า ให้ผลตอบแทนค่อนข้างโดดเด่นในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

ขณะที่บริษัทที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี ESG Rating สูงกว่า กลับให้ผลตอบแทนต่ำกว่ากลุ่มพลังงานฟอสซิล รวมถึง ดัชนี MSCI World ที่ไม่นับรวมกลุ่มพลังงานฟอสซิล เนื่องจากส่วนใหญ่บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ ถูกจัดเป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หรือกลุ่มที่มีอัตราส่วนการก่อหนี้อยู่ในระดับสูง (High leverage) ทำให้ผลตอบแทนอ่อนแอลงในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นความสนใจ ESG แล้ว SCB CIO พบว่า ความสนใจเร่งตัวขึ้นชัดเจนหลังปี 2559 สะท้อนได้จากการที่หน่วยงานกำกับของรัฐในหลายพื้นที่ทั่วโลกออกเกณฑ์กำกับดูแลเกี่ยวกับ ESG มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด

โดยพบว่า ในปี 2559 – 2563  จำนวนกฎระเบียบด้าน ESG เติบโตเฉลี่ย 41% ต่อปี และในปี 2564 เติบโต 17% ซึ่งการกำกับที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อเนื่องทำให้ภาคเอกชนต้องตื่นตัวกับ ESG มากขึ้น ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค สถาบันการเงิน และนักลงทุน

เมื่อพิจารณาภาพรวมกองทุน ESG พบว่า ยังค่อนข้างกระจุกตัวในกลุ่มที่เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนแบบครอบคลุมประเด็น ESG (General ESG Fund) คิดเป็น 85% ของกองทุน ESG โดยรวม มีเพียง 15% เท่านั้น ที่เป็นกองทุนที่เน้นประเด็นเฉพาะเจาะจงใน ESG (Thematic ESG Fund) ซึ่งเกือบครึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)