นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาและติดตามนโยบายเกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วย ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อเสนอแนะแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจ ในการพัฒนาและยกระดับการผลิตสินค้าและบริการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ESG เป็นแนวคิดเพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึง 3 มิติ คือ มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) หมายถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ มิติด้านสังคม (Social) เป็นการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม รวมถึงลูกค้า ชุมชน และผู้ที่ทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน และ มิติธรรมาภิบาล (Governance) การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่ง ESG ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ในระยะยาวเท่านั้น
แต่ยังช่วยกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมมือกันยกระดับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของโลกในทิศทางที่ดีขึ้นและเกื้อกูลในทุกมิติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดรูปแบบการประกอบธุรกิจและการลงทุนอย่างยั่งยืน สร้างให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติด้วย
โดยผลสำรวจของ ออพิมัส (Opimas) ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุน ระบุว่า ขนาดของตลาดข้อมูล ESG (ธุรกิจให้บริการฐานข้อมูลของบริษัทที่มีการดำเนินงานตอบสนอง ESG เพื่อให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนกับกลุ่มธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน) มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นครั้งแรกในปี 2564 และคาดว่าจะมีมูลค่าเกิน 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 28 % ต่อปี เนื่องจากนักลงทุนให้ความสำคัญกับการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เป็น ESG มากขึ้น
นอกจากนี้ ในต่างประเทศมีการออกมาตรการหรือมีการดำเนินการ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ของ ESG ไม่ว่าจะเป็น มิติด้านสิ่งแวดล้อม อย่างมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรป ข้อบทว่าด้วยการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Trade and Sustainable Development: TSD) ในกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTAs) ต่างๆ และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) (2) มิติด้านสังคม เช่น การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ข้อตกลงเกี่ยวกับการสนับสนุนแรงงานถูกกฎหมายภายใต้ความตกลง FTAs ต่างๆ และ มิติด้านธรรมาภิบาล อาทิ การสนับสนุนเศรษฐกิจที่เที่ยงธรรม (Fair Economy) ในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)
“การนำ ESG มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานขององค์กร จะมีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งไทยต้องปรับตัวให้รองรับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ดำเนินธุรกิจโดยนำแนวคิด ESG เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การปรับห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าและบริการ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่เพื่อให้การผลิตสินค้ามีคุณภาพ การพัฒนาทักษะแรงงานให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เป็นต้น”
ปัจจุบันแนวโน้มของผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน มีธรรมาภิบาล และใส่ใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งนักลงทุนส่วนใหญ่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำ ESG มามีส่วนในการดำเนินงานของธุรกิจ และการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ธุรกิจ ESG เป็นที่น่าลงทุนของนักลงทุน ขณะเดียวกันสินค้าและบริการ ESG ก็จะได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริโภคเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น