บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ระบุว่า แม้แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านพีคไปแล้วและชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดมาอยู่ที่ +6.4% YoY ในเดือน ม.ค. แต่สูงกว่าตลาดคาดเล็กน้อยที่ +6.2% YoY ขณะที่เทียบ MoM กลับมาเร่งตัวขึ้นเป็น +0.5% MoM เทียบกับ +0.1% MoM ในเดือนก่อนหน้า และตลาดคาดที่ +0.4% MoM สะท้อนเงินเฟ้อยังมีความหนืดอยู่ และยังห่างไกลเป้าหมายเงินเฟ้อของ FED
ประกอบกับตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 แสนคน และอัตราว่างงานลดลงเหลือเพียง 3.4% เท่านั้น ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 1969
เฟดขึ้นดอกเบี้ยคาดแตะสูงสุด 5.25-5.50%
ทำให้ตลาดประเมินใหม่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง แตะระดับสูงสุด (Terminal Rate) ที่ระดับ 5.25-5.50% (เทียบกับสิ้นเดือน ม.ค. ที่ตลาดคาดที่ 4.75-5.00% และ Dot Plot ของ FED ในเดือน ธ.ค. ที่อยู่ที่ 5.00-5.25%)
อย่างไรก็ดี หากแนวโน้มอัตราว่างงานไม่ปรับตัวขึ้นมาแตะระดับ 4% และเงินเฟ้อไม่ได้ลดลงต่ำกว่าระดับ 4% อย่างที่คาดการณ์กันไว้ (อิงจาก FED คาดอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.6% และ Core PCE จะลดลงมาอยู่ที่ 3.5% ภายในสิ้นปีนี้) เราอาจอยู่ในภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ “No Landing” ก็เป็นได้
"ตามหลักของ Taylor Rule ในกรณีนี้ อาจทำให้ FED ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยแตะระดับ 6% เทียบกับปัจจุบันที่คาดการณ์ Terminal Rate อยู่ที่ 5.00-5.25% ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญของตลาดหุ้นโลก โดยจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อและอัตราว่างงานสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ" บทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุ
งบบจ.Q4/65 กดดัน SET Index
สำหรับการประกาศผลประกอบการในไตรมาสนี้โดยรวมถือว่าน่าผิดหวัง เพราะสัดส่วนเกือบ 70% แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้นับตั้งแต่ต้นปีนี้ (YTD) ประมาณการกำไรของตลาด (SET EPS) ปี 2023-24F ถูกปรับลงมาแล้ว -4.6% และ -1.4% มาอยู่ที่ 95.5 บาท/หุ้น และ 106.5 บาท/หุ้น ตามลำดับ กดดัน SET Index อีกทางหนึ่งด้วย
ตลาดหุ้นไทยระยะสั้นยังถูกกดดันจากการไหลออกของกระแสเงินทุนต่างประเทศ และการประกาศผลประกอบการที่ส่วนใหญ่แย่กว่าคาด แต่อย่างไรก็ดี มอง SET Index ปัจจุบันที่ระดับ 1650 ลงมาน่าจะเริ่มมี Downside จำกัดแล้วในระยะสั้น จาก
(1) ในมุมมองทางเทคนิค เราประเมิน SET Index จะมีแนวรับสำคัญที่โซน 1630-1650 ซึ่งเป็นจุดร่วมกันทั้งกรอบด้านล่างของแนวโน้มแกว่งซิกแซกขึ้นตั้งแต่กลางปีที่แล้ว, เป็นแนวกด SET Index ตั้งแต่ต้นปีที่แล้วที่สามารถทะลุขึ้นมาได้ในช่วงปลายปีที่แล้ว และเป็นเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 วัน
(2) ต้นทุนการซื้อของต่างชาติรอบล่าสุดนี้ (ตั้งแต่ 26 ธ.ค. 2022) เฉลี่ยอยู่ที่ 1660 จุด และหากคำนึงถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะอยู่ที่ 1630 จุด
(3) หากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องใกล้เคียงกับการขาย 2 รอบก่อน จะคิดเป็นแรงขายอีกราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดจะกดดัน SET Index ราว -13 ถึง-21 จุด หรือจะคิดเป็น Downside ที่ประมาณ 1630 จุด
ในแง่ของกลยุทธ์ เราแนะนำ “Selective Buy” ทยอยสะสมแบบตั้งรับในช่วงตลาดอ่อนตัว เรายังคงเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่ SET Index ระดับ 1700-1720 จุดในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า มองการปรับตัวลงของ SET Index รอบนี้เป็นการปรับฐานเพื่อหาจุดสมดุลใหม่ และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งจากภาพการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริโภคภายในประเทศที่ยังมีความต่อเนื่อง ผสานกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในช่วงกลางเดือนหน้า
4 ธีมหุ้นแนะสะสมระยะสั้น