หุ้นบมจ.พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช หรือ PQS เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขาย (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรก (15 ก.พ.66) กลายเป็นหุ้นน้องใหม่ร้อนแรง เพราะเปิดตัวด้วยราคาดีดพุ่งถึง 133% ที่ราคา 14 บาท หรือปรับเพิ่มขึ้น 8 บาท จากราคาไอพีโอที่ 6 บาทต่อหุ้น ในระหว่างวันยังลากราคาขึ้นไปแตะสูงสุดที่ 15.80 บาท หรือพุุ่ง 163.33% ก่อนที่แรงเทขายทำกำไรในภาคบ่าย ราคาจะพลิกดิ่งลงมาปิดที่ 5.75 บาท ลดลง 4.17% หรือลบ 0.25 บาท จากราคาไอพีโอ ด้วยมูลค่าซื้อขายหนาแน่นกว่า 9,655 ล้านบาท
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีการทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานใหญ่ (BIG LOT) จำนวน 600,000 หุ้น มูลค่า 3.4 ล้านบาท ในราคาเฉลี่ย 5.75 บาท
"พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช" เป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังชั้นนำ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิต แป้งมันสำปะหลังมากว่า 20 ปี นำเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 170 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 6.00 บาท มูลค่า ที่ตราไว้ (Par) 1.00 บาท คิดเป็น 25.37% หรือคิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,020 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 4,020 ล้านบาท ทั้งนี้ ราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 11.85 เท่า
การระดมทุนขาย IPO ของ PQS มี บริษัท ฟิน พลัส แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นทีปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ
10 รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ PQS
ขณะที่รายชื่อผู้ถือหุ้น บมจ.พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช ตามที่มีการเปิดเผยครั้งแรก จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า10 อันดับแรก ประกอบด้วย
ด้านนายรัฐวิรุฬห์ ชาญจึงถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช ( PQS) เปิดเผยว่า เงินจากการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทจะนำไปใช้ใน 4 ส่วน ประกอบด้วย
1.ใช้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังในจังหวัดใหม่เพิ่มเติม 1 แห่ง เพื่อขยายกำลังการผลิตอีก 120,000 ตันต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 360,000 ตันต่อปี (จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตที่ 240,000 ตันต่อปี) จำนวน 667 ล้านบาท โดยระยะเวลาที่จะใช้เงินตั้งแต่ปี 2566 ถึงไตรมาส 1/2567
2.ใช้ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สเพิ่มเติม เนื่องจากการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังแห่งใหม่ บริษัทมุ่งเน้นการนำของเสียที่เกิดจากการผลิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2 เมกะวัตต์ (MW) จำนวน 54 ล้านบาท โดยระยะเวลาที่จะใช้เงินตั้งแต่ปี 2566 ถึงไตรมาส 1/2567
3.ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและบริษัทย่อยจำนวน 13 ล้านบาท โดยระยะเวลาที่จะใช้เงินตั้งแต่ปี 2566-2567
4.ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ (Working Capital) จำนวน 253.03 ล้านบาท
มั่นใจปี 67 โตก้าวกระโดด
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทจะรักษารายได้ให้อยู่ที่ระดับ 2,000 ล้านบาท และรักษาอัตรากำไรสุทธิให้อยู่ที่ระดับ 13% ซึ่งในปี 2566 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และใช้ก่อสร้างโรงงานใหม่ จึงมีความตั้งใจที่จะบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อน แต่เชื่อว่าในปี 2567 ผลการดำเนินงานจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลังโรงงานแห่งใหม่เปิดดำเนินการ ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปร ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จิ้นสูง
ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีรายได้รวม 1,757.57 ล้านบาท เติบโต 13.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 211.36 ล้านบาท เติบโต 12.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ 23.23% และมีอัตรากำไรสุทธิที่ 12.03% ซึ่งผลประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขาย
นายเสกสรรค์ ธโนปจัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟิน พลัส แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน PQS เปิดเผยว่า เงินที่ได้จากการระดมทุน PQS จะขยายธุรกิจตามแนวทางที่บริษัทวางไว้ โดยเฉพาะการลงทุนเปิดโรงงานใหม่จะสนับสนุนให้ PQS มีกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 70% และจะสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน ซึ่งโรงงานใหม่ของ PQS จะเสร็จเรียบร้อยในปี 2566 เริ่มดำเนินการผลิตอย่างเป็นทางการในปี 2567 และทำให้ผลประกอบการโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2567 เช่นกัน
บล.ทิสโก้ : อุปสงค์ตปท."จีน"หนุน
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า PQS เป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจในเชิงของการเติบโตจากอุปสงค์ที่เริ่มกลับมาในต่างประเทศ (ยอดขายส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70%) ทำให้อัตราการใช้ประโยชน์ของโรงงานเพิ่มขึ้น
อีกทั้งปัจจุบัน PQS ยังได้รับประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านการลงทุนให้ยกเว้นภาษีได้ทั้งในส่วนของธุรกิจแป้งมันและธุรกิจโรงไฟฟ้า และการที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทได้มีการทำสัญญาเพิ่มเติมว่าจะไม่มีการขายหุ้นที่ถือภายใน 180 วัน เป็นการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน
หากเทียบกับบริษัทในตลาดเช่น TWPC แล้วแม้จะมียอดขายที่น้อยกว่า แต่ด้วยการใช้ประโยชน์โรงงานที่สูงกว่าทำให้มีอัตรากำไรที่ดีกว่า ด้านการประเมินมูลค่าหากเทียบกับ TWPC ที่ PER ปัจจุบันอยู่ที่ 13 – 14 เท่าจะได้มูลค่าที่เหมาะสมราว 7.20 – 7.60 บาท
รอดูการเปิดโรงงาน PMS ในช่วง Q4 ! (ปัจจุบันมีโรงงาน 3 แห่งคือ PQS ที่มุกดาหาร, PQS2012 และ PMS (กำลังก่อสร้าง)ที่สกลนคร รวมถึงการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (Biogas) จากกากมันและน้ำเสียจากกระบวนการผลิต )