ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,874.57 จุด ลดลง 280.83 จุด หรือ -0.87%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,891.93 จุด ลดลง 27.36 จุด หรือ -0.70% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,434.05 จุด เพิ่มขึ้น 5.90 จุด หรือ +0.05%
ราคาหุ้นธนาคารเครดิต สวิส ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปิดร่วงลง 13.94% เนื่องจากนักลงทุนกระหน่ำขาย หลังธนาคารซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์ (Saudi National Bank) หรือ SNB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของเครดิต สวิส ประกาศว่า SNB ไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อเครดิต สวิส เนื่องจากจะทำให้ SNB ถือหุ้นในเครดิต สวิสมากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นการทำผิดกฎระเบียบธนาคาร
เครดิต สวิสซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ เผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างหนัก โดยธนาคารขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 1.32 พันล้านฟรังก์ ส่งผลให้ยอดขาดทุนตลอดทั้งปีอยู่ที่ 7.3 พันล้านฟรังก์ นอกจากนี้ ลูกค้าได้แห่ถอนเงินฝากมากกว่า 1.10 แสนล้านฟรังก์ในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นผลมาจากข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการทำผิดกฎระเบียบและความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดี
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นนิวยอร์กลดช่วงลบ หลังจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้จัดการประชุมเพื่อหาแนวทางในการสร้างเสถียรภาพให้กับเครดิต สวิส ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และ FINMA ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดหาสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือเครดิต สวิส
หุ้นธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐดิ่งลงอย่างหนัก โดยหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 3.1% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ร่วงลง 3.24% หุ้นเจพีมอร์แกน ร่วงลง 4.7% หุ้นซิตี้กรุ๊ป ดิ่งลง 5.36% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ร่วงลง 4.7%
หุ้นเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) และหุ้นแพคเวสต์ (PacWest) ซึ่งเป็นธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐ ทรุดตัวลง 21.37% และ 12.87% ตามลำดับ โดยหุ้นของทั้งสองธนาคารถูกระงับการซื้อขายหลายครั้งในระหว่างวัน ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง หลังจากราคาน้ำมัน WTI ดิ่งหลุดจากระดับ 70 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2564 โดยหุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ ร่วงลง 6.05% หุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 4.97% หุ้นเชฟรอน ร่วงลง 4.25 1% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ดิ่งลง 9%
ข้อมูลล่าสุดของ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 52.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. และให้น้ำหนักเพียง 48.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 67.3% ที่อัตราดอกเบี้ยเป้าหมายของเฟดจะลดลงสู่ระดับ 3.50-3.75% ในเดือนธ.ค. จากปัจจุบันที่ระดับ 4.50-4.75% ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากถึง 1.00% ในปีนี้
สหรัฐเปิดเผยรายงานยอดค้าปลีกเดือนก.พ.ปรับตัวลดลง 0.4% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 0.3% หลังจากพุ่งขึ้น 3.2% ในเดือนม.ค. ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวจากระดับ 5.7% ในเดือนม.ค. และดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับเดือนม.ค.