ดาวโจนส์ปิดร่วง 384.57 จุด หุ้นกลุ่มแบงก์ฉุดตลาด

17 มี.ค. 2566 | 23:43 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2566 | 23:49 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเกือบ 400 จุดในวันศุกร์ (17 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมา ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตในภาคธนาคาร และความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 31,861.98 จุด ลดลง 384.57 จุด หรือ -1.19%,  ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,916.64 จุด ลดลง 43.64 จุด หรือ -1.10% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,630.51 จุด ลดลง 86.76 จุด หรือ -0.74%

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.1%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.4% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 4.4%

หุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ โดยกลุ่มการเงินร่วงลงมากที่สุด

นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับวิกฤตในภาคธนาคารอีกครั้ง หลังจากเอสวีบี ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (SVB Financial Group) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank - SVB) ได้ยื่นเรื่องต่อศาลนิวยอร์กเพื่อขอรับการพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลาย

นักลงทุนวิตกว่าการล้มละลายของ SVB และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ของสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น จะส่งผลกระทบต่อไปยังระบบธนาคารทั่วโลก

และความวิตกดังกล่าวได้แผ่ขยายไปยังยุโรป โดยหุ้นธนาคารเครดิต สวิส ร่วงลงจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสภาพคล่องของธนาคาร ซึ่งกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบายรีบเข้ามาช่วยเหลือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาด

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี S&P หุ้นกลุ่มธนาคาร และดัชนี KBW หุ้นกลุ่มธนาคารระดับภูมิภาค ร่วงลง 4.6% และ 5.4% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการร่วงลงรุนแรงที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563

ราคาหุ้นของ ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank – FRB) ซึ่งเป็นธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐ ทรุดตัวลง 32.8% หลังธนาคารประกาศระงับการจ่ายเงินปันผล แม้ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐประกาศอัดฉีดเม็ดเงินรวมกันถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ FRB ก็ตาม

หุ้นแพคเวสต์ บันคอร์ป ร่วง 19.0% และหุ้นเวสเทิร์น อลิอันซ์ ร่วง 15.1% ขณะที่หุ้นเครดิต สวิส ที่เทรดในตลาดหุ้นสหรัฐ ปิดร่วงลง 6.9%

ส่วนหุ้นบวกสวนทางตลาดได้แก่หุ้นเฟดเอ็กซ์ คอร์ป ซึ่งพุ่งขึ้น 8% หลังบริษัทปรับเพิ่มคาดการณ์รายได้ในปีงบการเงินปัจจุบัน

ทั้งนี้ บรรดานักลงทุนมุ่งความสนใจในขณะนี้ไปที่การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 60.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. และให้น้ำหนักเพียง 39.5% ที่เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย