การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในเวียดนามไม่สามารถก่อสร้างเสร็จตามกำหนดเวลาได้ ส่งผลให้รัฐบาลเวียดนามไม่ให้เปิดเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งหมดทั่วประเทศ 77 โครงการ ซึ่งมีธุรกิจของคนไทยรวม 13 โครงการ กำลังการผลิตรวม 647.8 เมกะวัตต์(MW) ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการที่ประกาศออกมาที่ต่างก็ปรับลดทั้งสิ้น
นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)หรือ EP เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2565 บริษัทมีขาดทุนสุทธิ 272.04 ล้านบาท หลักๆมาจากต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายสูงถึง 261.33 ล้านบาทจากเงินลงทุนประมาณ 8 พันล้านบาทที่ใช้ในโครงการพลังงานลม 4 โครงการในเวียดนาม กำลังการผลิตรวม 160 MW แต่ไม่สามารถ COD ได้ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่อนุญาติให้เปิดดำเนินการทั่วประเทศ 77 โครงการ
ล่าสุดผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชนไทยและหอการค้าไทยได้ยื่นจดหมายถึงนายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีเวียดนามแล้ว พร้อมชี้แจงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้เปิด COD และให้เจรจาเรื่องอัตราการรับซื้อไฟฟ้าใหม่ พร้อมเร่งรับซื้อไฟฟ้าโดยเร็ว ซึ่งน่าจะมีสัญญาณที่ดี เพราะเวียดนามเพิ่งได้ประธานาธิบดีคนใหม่เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา คาดว่า กลางปีน่าจะมีความชัดเจนขึ้น
“การระบาดโควิด-19 ในปี 2563 ที่มีการล็อกดาวน์และกักตัว ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จทันก่อนเดือนตุลาคม 2564 ตามที่รัฐบาลกำหนด จากนั้นก็ไม่มีรัฐบาล เนื่องจากประธานาธิบดีถูกปลดจากตำแหน่ง ซึ่งก่อนนั้นก็ไม่กล้าทำอะไรทั้งปี เพราะค่าไฟที่นั่นถูก ราคาค่าไฟเฉลี่ยที่ขายให้กับประชาชนและธุรกิจตก 8 เซ็นต์หรือประมาณ 2.6-2.7 บาท ขณะที่ไทยขายที่ 5 บาท”นายยุทธกล่าว
ดังนั้นทางการเวียดนามจึงไม่กล้าขึ้นค่าไฟ เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ขณะที่ค่าไฟที่รัฐบาลรับปากกับผู้ประกอบการไทยจะรับซื้อที่ 8.5 เซ็นต์ต่อหน่วย ถ้าซื้อตามที่รับปากไว้แต่แรก จะขาดทุนทันที ซึ่งที่เวียดนามใช้ถ้านหินมาก ต้นทุนอยู่ที่ 15 เซ็นต์ ขณะที่ต้นทุนแก๊สอยู่ที่ 11 เซ็นต์ ้จึงต้องต้องหาอะไรที่ถูกมารวมเข้าไป เพื่อไม่ให้ขาดทุน
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของหน่วยงานของการไฟฟ้าเวียดนามมีความต้องการให้ COD ไปชั่วคราวทันที แต่จะมีการจ่ายค่าไฟฟ้าเพียงครึ่งเดียวจนกว่าจะได้ข้อสรุปของราคา FIT ถาวร เนื่องจากปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของเวียดนามมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชน รวมทั้งการสำรองไฟฟ้าในระบบมีไม่ถึง 10% แตกต่างจากประเทศไทยที่มีการสำรองไฟฟ้าสูงถึง 50% ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องเร่งดำเนินการเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน
“เราต้องการให้ COD ชั่วคราวทันที แม้ว่าจะจ่ายค่าไฟเพียงครึ่งเดียวก็ตาม และค่า FIT ถาวรคงไม่ใช่ที่ 8.5 เซ็นต์ตามเดิมแล้ว น่าจะอยู่ระหว่าง 7.35 – 7.75 เซ็นต์ ลดลง 10-15% เมื่อเทียบกับประมาณการเดิม 8.5 เซ็นต์ต่อหน่วยจะมีรายได้เพิ่มอีกเท่าตัวหรืออยู่ที่ 1,400-1,500 ล้านบาท”นายยุทธกล่าว
ทั้งนี้บริษัทได้ประมาณการรายได้จากโครงการไฟฟ้าจากพลังงานลมไว้ 3 รูปแบบคือ
ดังนั้น หากบริษัทสามารถดำเนินการ COD โครงการพลังงานลม ณ ประเทศเวียดนาม ได้ช่วงกลางปีนี้ ผลประกอบการของบริษัทในปี 2566 จะพลิกกลับเป็นกำไรได้ ส่วนกำลังการผลิตใหม่คาดยื่นขอไลเซนส์คาดว่าจะรับรู้รายได้ระหว่างปี 2567 เป็นต้นไป
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 877.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.42% โดยสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์มีรายได้ 681.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% และรายได้ทางตรงจากธุรกิจไฟฟ้า เพิ่มขึ้นกว่า 145% แต่เนื่องจากยังไม่มีรายได้จากโครงการไฟฟ้าพลังงานลมเข้ามา ทำให้บริษัทฯขาดทุนสุทธิ (ส่วนของบริษัท) เป็นเงิน 272.04 ล้านบาท
ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในทุกธุรกิจ โดยธุรกิจสิ่งพิมพ์คาดว่าจะมียอดขายเติบโต 20% หลังสามารถปรับราคาขายได้ตามราคาต้นทุนที่สูงขึ้น และอัตรากำไรขั้นต้นก็จะกลับสู่สภาวะปกติที่ประมาณ 15%
ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าจะเร่งขยายพอร์ตลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งในและต่างประเทศ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศอยู่ระหว่างยื่นประมูลใบอนุญาต(ไลเซนส์)โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเภทโซลาร์ฟาร์ม 8 โครงการ กำลังการผลิตรวม 61.625 เมกะวัตต์คาดว่า จะประกาศผลในวันที่ 25 มีนาคม 2566 คาดว่า บริษัทจะได้กำลังผลิตใหม่เพิ่มเข้ามาประมาณ 47.625 เมกะวัตต์
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,868 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2566