เปิดแนวทางป้องกันอันตรายจาก "ซีเซียม-137" น่ากลัวแค่ไหน อ่านที่นี่

15 มี.ค. 2566 | 10:14 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2566 | 10:14 น.

เปิดแนวทางป้องกันอันตรายจาก "ซีเซียม-137" น่ากลัวแค่ไหน อ่านที่นี่มีคำตอบ กรมการแพทย์ชี้สามารถฟุ้งกระจายได้เมื่อแตกออกจากที่ห่อหุ้ม

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีรายงานข่าวพบสารซีเซียม-137  หายจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ จ.ปราจีนบุรี โดยส่วนที่สูญหายเป็นอุปกรณ์ตรวจจับเถ้าละอองลักษณะท่อกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว 
   
ปกติซีเซียม-137 มีลักษณะเป็นของแข็ง คล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายได้เมื่อแตกออกจากที่ห่อหุ้มไว้ ถูกนำมาใช้งานต่างๆ เช่น ในอุปกรณ์วัดความชื้น วัดอัตราการไหลของเหลว วัดความหนาวัสดุ เป็นต้น 

โดยจะสลายตัวให้รังสีบีตาและแกมมา ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพได้โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสรังสีปริมาณมากแบบทั้งร่างกายทำให้เกิดความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน  ซึ่งแบ่งออกได้ 3 กลุ่มอาการ ระบบผลิตเลือด ระบบทางเดินอาหาร และ ระบบประสาทกลาง   

หรือกรณีที่ได้รับรังสีบางส่วนร่างกายหรือปริมาณไม่สูงทำให้เกิดอาการด้านผิวหนังจากรังสี โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือปริมาณรังสีที่ได้รับ ระยะเวลาสัมผัส ระยะห่างจากแหล่งกำเนิดรังสี และมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันรังสีหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า วัตถุกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137" ที่สูญหายได้หลุดออกจากเครื่องกำบัง การได้รับปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากซีเซียม-137 เป็นระยะเวลาสั้น ๆ จะไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายที่เห็นผลชัดเจนในทันทีแต่อย่างใด แต่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการเกิดโรคมะเร็งได้   
 

หากมีการชำแหละส่วนกล่องโลหะอาจทำให้รังสีมีการการสัมผัสและการปนเปื้อนรังสีมากขึ้นได้ เมื่อสงสัยว่าสัมผัสปนเปื้อนรังสี การลดการปนเปื้อน ซึ่งทำได้ทั้งแบบแห้ง เช่น การปัดออก เปลี่ยนเสื้อผ้า  หรือแบบเปียก โดบการล้างด้วยน้ำ เพื่อเป็นปกป้องผู้สัมผัส บุคลกรทางการแพทย์และสถานที่