หุ้นกลุ่ม JMART วูบยกแผง หลังผลการดำเนินงานขาดทุนไตรมาสแรกปี 66

15 พ.ค. 2566 | 11:47 น.
อัพเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2566 | 11:54 น.

หุ้นกลุ่มบริษัท JMART ปรับตัวลดลงยกแผง หลังปิดตลาดหุ้นไทยวันนี้ 15 พ.ค. 66 โดยตอบรับผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 66 ที่ออกมาขาดทุน นักลงทุนเริ่มกังวลปัญหาหนี้พุ่ง โบรกฯ แนะเลี่ยง

(15 พ.ค.) หลังปิดตลาดหุ้นไทยความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) JMART ลดลง 10.34% หรือลดลง 2.10 บาท มาอยู่ที่ 18.20 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,429.30 ล้านบาท

ราคาหุ้น บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) SINGER ลดลง 19.26% หรือลดลง 2.60 บาท มาอยู่ที่ 10.90 บาท มูลค่าการซื้อขาย 899.65 ล้านบาท

ราคาหุ้น บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) SGC ลดลง 17.91% หรือลดลง 0.50 บาท มาอยู่ที่ 2.20 บาท มูลค่าการซื้อขาย 103.69 ล้าน

ทั้งนี้การปรับลดลงของราคาหุ้นกลุ่ม JMART มาจากการประกาศงบไตรมาสแรกปี 66 เริ่มที่ JMART แจ้งผลการดำเนินงานในไตรมาสแรก ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 294.7 ล้านบาท ลดลง 190.6% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 325.1 ล้านบาท

หุ้นกลุ่ม JMART วูบยกแผง หลังผลการดำเนินงานขาดทุนไตรมาสแรกปี 66

โดยมีสาเหตุหลักจากผลกระทบของการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก SINGER ตามสัดส่วนที่ 25.2% มูลค่า 218 ล้านบาท และผลจากการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง จากเงินลงทุนในตราสารทุนมูลค่า 352 ล้านบาท (หลังหักภาษี) โดยหากไม่รวมผลจากการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (หลังหักภาษี) บริษัทจะมีกำไรสุทธิ 57 ล้านบาท

นอกจากนี้ รายได้รวมในไตรมาสแรกปีนี้ อยู่ที่ 3,377.4 ล้านบาท ลดลง 3.8% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,512.5 ล้านบาท โดยมีผลจากการลดลงของรายได้ในส่วนของธุรกิจจัดจำหน่ายมือถือ

ด้าน SINGER แจ้งผลการดำเนินงานบริษัทขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 843 ล้านบาท ลดลง 492.1% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 215 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการขายลดลง 492 ล้านบาท หรือคิดเป็น 70.8% จากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าบางกลุ่มที่ลดลงจากปีก่อน หลังทางบริษัทย่อยมีการเปลี่ยนนโยบายในการปล่อยสินเชื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ควบคุมคุณภาพหนี้ รวมไปถึงการปรับลดจำนวนพนักงานขายแฟรนไชส์ลง

ประกอบกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มบริษัทเพิ่มขึ้น 898 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1,663% โดยมีสาเหตุหลักมาจากลูกหนี้ที่เข้าโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มทยอยสิ้นสุดการได้รับความช่วยเหลือ

ขณะที่ SGC แจ้งผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 368 ล้านบาท ลดลง 336% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 156 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 741 ล้านบาท หรือ 1,852% จากไตรมาสเดียกวันปีก่อน หลักๆ มาจากลูกหนี้ที่เข้าโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มทยอยสิ้นสุดการได้รับความช่วยเหลือ

บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า มุมมองต่อ SINGER แม้ผ่านจุดต่ำสุด แต่คาดยังมีการตั้งสำรองสูง สำหรับการถือหุ้นใน SGC, BRR ที่ต้อง Mark to market ตามราคาปิดสิ้นงวด โดย Qtd ยังขาดทุนราว 30 ล้านบาท โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างปรับประมาณการของ JMART 

สำหรับ SINGER โดยรวมประมาณการยังมี Downside risk สูง ปีนี้คาดว่าจะพลิกมาขาดทุน และยังอยู่ในช่วงปรับโครงสร้าง เพื่อควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างเข้มข้น

โดยประเด็นด้าน Inventory คาดว่าผ่อนคลายไปมาก หลังตั้งสำรองก้อนใหญ่ และงวดไตรมาสแรกปี 66 ไม่มียึดสินค้าเพิ่ม

ขณะที่ประเด็นด้าน NPL มองว่าแนวโน้มการตั้งสำรอง แม้จะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ยังเป็นระดับที่สูงกว่าปกติต่อเนื่อง และจะกดดันผลประกอบการไตรมาส 2 ของปี 66 อีกด้วย