(6 มิ.ย. 66) นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ทิศทางของเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ในปี 2566 ยังมีแนวโน้ม เข้า-ออก ตลาดอย่างรวดเร็ว โดยเป็นเพราะเหตุการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ขณะที่ภาพรวมในปัจจุบัน ทั้งปัจจัยในประเทศ หรือต่างประเทศ ยังคงไม่มีความชัดเจน ทำให้มีผลต่อภาคการส่งออกที่ยังมีความน่ากังวลเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่ได้โตอย่างที่คาดไว้
แต่หากมองภาคการท่องเที่ยว หรือการบริโภคในประเทศ ถือว่าปรับดีขึ้นมาก จึงคาดการณ์ว่าฟันด์โฟลว์ในช่วงครึ่งหลังของปี 66 ยังจะไหลเข้ามาได้ดีกว่าครึ่งปีแรก ตามเศรษฐกิจไทยที่กำลังดีขึ้น
สำหรับนโยบายของตลาดหลักทรัพย์ ยังมีความสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทั้งการลดช่องว่างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในประเทศ
โดยการออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์นักลงทุนรายได้น้อยมากขึ้นได้ ซึ่งไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ตาม แต่นโยบายที่ดำเนินการอยู่ก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศอยู่แล้ว
ส่วนการปรับลดลงของดัชนีหุ้นไทย เกิดจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง แต่มองว่าบริษัทในตลาดหุ้นไทยยังมีความสามารถในการทำกำไร และความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้กลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้นได้
ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. ระบุว่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 ดัชนีหุ้นปิดที่ระดับ 1,533.54 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 8.1% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565
ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นใน ASEAN โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 54,189 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 31.6% มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน 5 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 60,933 ล้านบาท
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ยังขายสุทธิเป็นเดือนที่ 4 โดยมีการขายสุทธิ 33,407 ล้านบาท แต่ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13
อย่างไรก็ตามในเดือนพฤษภาคม 2566 เริ่มเห็นเงินทุนต่างชาติไหลออกจากพันธบัตรและหุ้นไทยในระยะสั้น หลังทราบผลการเลือกตั้ง เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง
หากนับตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบันมีการขายต่างชาติแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนเป็นเพราะปี 2565 มีการซื้อสุทธิของต่างชาติกว่า 2 แสนล้านบาท จึงเป็นการปรับสมดุลของการลงทุนจากต่างชาติ
ทั้งนี้ยืนยันว่าการไหลออกของ ฟันด์โฟลว์ ต่างชาติไม่ได้ส่งผลกระทบกับการระดมทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากการซื้อหุ้น IPO ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนในประเทศหลัก
แต่สิ่งที่น่าความกังวลในตอนนี้มาจาก ราคาต้นทุนพลังงาน ซึ่งการปรับตัวของแต่ละบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องติดตามต่อในรายละเอียด ที่จะต้องเลือกการลงทุนในบริษัทที่สามารถปรับตัวรับกับดิสรัปชั่น