นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (Association of Investment Management Companies – AIMC) ในฐานะตัวแทนบริษัทจัดการลงทุนในประเทศไทย กล่าวถึง ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK จนส่งผลกระทบต่อการลงทุน ว่า ทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาชิก บลจ. ยังคงติดตามการส่งงบการเงินปี 65 ของ STARK ว่าภายในวันที่ 16 มิ.ย. 66 จะได้หรือไม่ หาก STARK ไม่สามารถส่งงบการเงินปี 65 ตามกำหนดได้ ทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุน จะมีการหารือกับทางสมาชิกบลจ.ถึงแนวทางการดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายจากทาง STARK ซึ่งในฐานะของบลจ.นั้นอยู่ฝั่งเดียวกับผู้ลงทุน ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ลงทุนที่ฝากเงินมาไว้ให้ทางบลจ.บริหาร ทำให้บลจ.ถือว่าเป็นผู้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกับนักลงทุนที่เป็นลูกค้าของของบลจ.
ส่วนแนวทางในการป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนของ บลจ.และผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้อง หลังเกิดกรณี STARK ล่าสุดได้มีการพูดคุยกับทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาเทคโนโลยีในการติดตามข่าวสาร และเปิดเผยข้อมูลความเคลื่อนไหวของบริษัทจดทะเบียนให้รวดเร็วมากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อเป็นการส่งสัญญาณ แจ้งเตือน รวมถึงแจ้งความเคลื่อนไหวต่างๆของบริษัทจดทะเบียนให้นักลงทุนได้รับทราบอย่างรวดเร็ว และรับทราบอย่างทั่วถึง รวมถึงจะมีการเดินสายพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเครื่องมือและแนวทางไนการตรวจสอบก่อนการลงทุนที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น การมีกฎให้บริษัทจดทะเบียนมีผู้ตรวจสอบบัญชี 2 ราย และการทำเรตติ้ง 2 ราย เป็นต้น
นอกจากนั้นทางบลจ.ยังเน้นในด้านการลงทฺนตามหลัก ESG โดยเน้นด้านธรรมภิบาล หรือ Governance เป็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องของคนที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งจากกรณีของ STARK สะท้อนให้เห็นว่าคนเป็นเหตุให้บริษัทเกิดปัญหาขึ้น แม้ว่าธุรกิจของ STARK จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ยังมีการเติบโตขึ้นในอนาคตก็ตาม ซึ่งเรื่องดังกล่าวทาง STARK จะต้องเป็นคนจัดการในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้บริษัทเกิดความเสียหาย แม้ว่าทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุนจะส่งหนังสือไปสอบถามกับทาง STARK แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการตอบกลับมา
นางชวินดา กล่าวต่อว่า กรณีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลงทุน STARK เป็นปัจจัยที่ทางบลจ.ไม่สามารถคาดเหตุการณ์ในอนาคตที่เกิดขึ้นมาได้ เพราะการลงทุนของ บลจ.ในการคัดเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนมีกฎเกณฑ์ในการคัดเลือกตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด รวมถึงมาตรฐานเกณฑ์ที่บลจ.แต่ละรายกำหนด ซึ่งมีความเข้มข้นมาก
ซึ่งยอมรับว่าข้อมูลของ STARK ก่อนการตัดสินใจเข้าลงทุนมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด จากการไปเยี่ยมชมโรงงาน การให้ข้อมูลของผู้บริหารในตอนนั้น รวมถึงข้อมูลการเงินของ STARK ที่ได้เปิดเผยออกมา และความน่าเชื่อถือในเรื่องธรรมาภิบาลที่ IOD ให้คะแนน 3 ดาว ซึ่งเป็นระดับที่สามารถลงทุนได้ และมีเครดิตเรตติ้งในระดับที่สามารถลงทุนได้เช่นเดียวกัน
กรณีการลงทุนใน STARK ก็มีกระบวนการทำงานในลักษณะเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์นอกเหนือจากความสามารถในการควบคุมของผู้จัดการกองทุน อาทิ การยกเลิกแผนการลงทุน การส่งงบการเงินล่าช้า การให้ความเห็นและข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นต้น ผู้จัดการกองทุนจะปรับสัดส่วนการลงทุนตามจังหวะที่เหมาะสม ในระดับสมาคม บลจ.มีการรวมตัวกันทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น ติดตามการทำงานของบริษัท ได้มีการส่งหนังสือขอเข้าพบประธานกรรมการ หรือผู้บริหารของ STARK ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่ บลจ.ร่วมกันทำในรูปแบบ collective action เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ
"ยอมรับว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง เพราะไม่ใช่บลจ.เท่านั้น แต่บริษัทประกัน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินต่างชาติ ต่างก็ลงทุนใน STARK ด้วย ก็ได้ผลกระทบเหมือนๆกัน ภาพในตอนนั้นจากที่เราสกรีนข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์แล้ว ก็เป็นบริษัทที่ลงทุนได้ แต่มีเหตุการณ์ในเรื่องความไม่โปร่งใสและการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เราเองก็ต้อง Take Action อย่างเหมาะสม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุนทุกราย และรักษาความน่าเชื่อถือให้กับอุตสาหกรรมบลจ. เพราะ Trusted เป็นสิ่งที่สำคัญในอุตสาหกรรมนี้"