TPL ลุยลงทุน"กรีนโลจิสติกส์" เสน่ห์แรงรายใหญ่แห่ถือหุ้นไอพีโอ

27 มิ.ย. 2566 | 07:08 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2566 | 07:08 น.

TPL ปรับกลยุทธ์ลงทุนครั้งใหญ่ รุก"กรีนโลจิสติกส์’ ทุ่มลงทุนรถขนส่งยานยนต์ไฟฟ้า 80 คัน พร้อมส่งมอบภายในสิ้นปีนี้ ซีอีโอ "ภัทรลาภ" ลั่นแผนธุรกิจเน้นเพิ่มศักยภาพ ผลักดันเติบโตก้าวกระโดด สะท้อนความมั่นใจจากนักลงทุนรายใหญ่ - VI แห่ถือหุ้น พร้อมเทรดตลาด mai 30 มิ.ย.นี้

หากเอ่ยถึง “ธุรกิจขนส่งสินค้า” สัญญาณการเติบโตยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระแสที่ยังเป็นเทรนด์ทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจยังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนการทำธุรกิจอุตสาหกรรมรายใหญ่ แต่ยังช่วยขนส่งสินค้าและบริการของผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น 

สารพัด “ปัจจัยบวก” ดังกล่าว ส่งผลดีต่อหุ้นน้องใหม่ บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทย ทั้งสำหรับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมถึงให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 หมวดธุรกิจบริการ หลังจากเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 120 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3.30 บาท โดยเปิดให้จองซื้อเมื่อวันที่ 22- 23 และ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา

การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในคราวนี้  กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ "ตระกูลจีนะวิจารณะ" จะถือหุ้นใหญ่ 36.25% กลุ่มกรรมการและผู้บริหารอย่าง “ภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา” ถือหุ้น 0.27% “วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์” ถือหุ้น 0.15% และ “นิติ ปัญญาวิศิษฏ์กุล” ถือหุ้น 0.15%  

รวมถึง “นักลงทุนรายใหญ่” อย่าง บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA ถือหุ้น 26.73% “สุระ คณิตทวีกุล” ถือหุ้น 3.82% “สุธิดา มงคลสุธี” ถือหุ้น 3.34% “บัญชา  พันธุมโกมล” ถือหุ้น 2.77% “พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี” ถือหุ้น 1.91% “พีรเจต สุวรรณนภาศรี” ถือหุ้น 1.53% และ “นันทิวัฒน์ พงษ์เจริญ” ถือหุ้น 0.19% (สัดส่วนหลังเสนอขายหุ้น IPO) 

TPL ลุยลงทุน\"กรีนโลจิสติกส์\" เสน่ห์แรงรายใหญ่แห่ถือหุ้นไอพีโอ

หุ้น TPL เป็นหุ้นธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีความ “แตกต่าง” จากผู้ประกอบการทั่วไป โดยได้จัดพอร์ตลูกค้าออกเป็นสามกลุ่มคือประเภท การจัดส่งแบบธุรกิจถึงธุรกิจ (B2B), การจัดส่งแบบธุรกิจถึงบุคคล (B2C) และการจัดส่งแบบบุคคลถึงบุคคล (C2C) เพื่อบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจ และที่ “โดดเด่น” คือ มีบริการจัดส่งสินค้าทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยเฉพาะของที่มีน้ำหนักมาก (Overweight) หรือของที่มีขนาดใหญ่ (Oversize) หรือมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมาตรฐานทั่วไป (Odd size)  ซึ่งถือเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม " Niche Market " ดังนั้นจึงมีโอกาสและช่องทางการเติบโตไม่ยาก ปัจจุบันบริษัทให้บริการจัดส่งสินค้าประมาณ 350,000-600,000 ชิ้นต่อเดือน โดยมีจุดให้บริการ 129 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบสาขาของบริษัทและแฟรนไชส์ของบริษัท

นายภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPL กล่าวว่า การเข้าตลาดหุ้นในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจ การลงทุนโครงการในอนาคต ผลักดันการเติบโตอย่าง "ก้าวกระโดด" พร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าขนาดใหญ่หลากหลายรูปทรงด้วยระบบ “Green logistics” สะท้อนผ่านเงินระดมทุนราว 396 ล้านบาท ที่ใช้ผ่าน 3 ช่องทางในการสร้างการเติบโตอย่าง “โดดเด่น” คือ 1.ใช้ในการจัดหาที่ดินและก่อสร้างศูนย์คัดแยก ศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค  2.การซื้อยานพาหนะที่เป็นรถขนส่งแบบยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการสร้างสถานีชาร์จไฟและอุปกรณ์ต่างๆ และ 3.การลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT)

โดยแผนธุรกิจบริษัทจะเน้นเพิ่มศักยภาพ เพื่อสนับสนุนการเติบโตในอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยเฉพาะการตัดสินใจปรับกลยุทธ์การลงทุนครั้งใหญ่ ผ่านการลงทุนซื้อรถไฟฟ้า (EV) แบ่งเป็นรถบรรทุก 6 ล้อจำนวน 28 คัน รถ 4 ล้อเล็กจำนวน 51 คัน ซึ่งคาดจะรับมอบรถไฟฟ้า EV ในครึ่งปีหลัง 2566 จากปัจจุบันที่มีกองรถดีเซลทั้งหมด 500 คัน แบ่งเป็นรถบริษัทจำนวน 300 คัน และรถของพันธมิตร 200 คัน 

TPL ลุยลงทุน\"กรีนโลจิสติกส์\" เสน่ห์แรงรายใหญ่แห่ถือหุ้นไอพีโอ

 

การตัดสินเปลี่ยนโครงสร้างต้นทุนของบริษัทฯ นั้น สืบเนื่องจากต้นทุนหลักของบริษัทคือ “น้ำมัน” กล่าวคือเมื่อราคาน้ำมันมีความผันผวนแรง ส่งผลให้การบริหารต้นทุนยาก จึงเป็นจุดที่บริษัทนำมาพิจารณาเห็นว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยน 
  
สำหรับ “จุดเด่นสำคัญ” จากการลงทุนมาใช้พลังงานไฟฟ้าแทนพลังงานดีเซล 1.การช่วยประหยัดต้นทุน 2.สนับสนุนความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น และอาจจะช่วยแบ่งส่วนนี้ไปลดราคาให้ลูกค้า ซึ่งจะช่วยทำให้การแข่งขันของบริษัทดีขึ้นอีก และ 3.ช่วยทำให้ขยายตลาดใน “กลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่” (คอร์ปอเรท) สามารถนำ "ข้อดี” ของการใช้บริการขนส่งของบริษัทด้วย “พลังงานสะอาด” ใส่เข้าไปในพอร์ตของ ESG และเป็นกระแสเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน 

“ประโยชน์ในการลงทุนรถ EV ช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานเชื้อเพลิงได้มาก แม้มูลค่าการลงทุน รวมทั้งค่าเสื่อมจะสูงกว่ารถดีเซล  แต่โดยรวมก็ยังถือว่ารถ EV ประหยัดกว่ารถดีเซล ในยามที่ราคาน้ำมันผันผวนมาก แต่หากราคาน้ำมันลด ต้นทุนไฟฟ้าก็ลดลงด้วย”  

ผลการดำเนินงานบริษัทในปี 2565 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 21.11 ล้านบาท ขณะที่ในงวดไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2.41 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น 18.90% จากงวดเดียวกันปีก่อนเท่ากับ 18.04% และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 0.53 เท่า 

"การระดมทุนเข้าตลาดหุ้น จะทำให้บริษัทฯ เพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจให้บริการจัดส่งสินค้าได้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น สร้างความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงิน ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทลดลง ซึ่งจะสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น ผลักดันการเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าขนาดใหญ่หลากหลายรูปทรงด้วยระบบ "Green logistics" รวมถึงมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้ในอนาคต" ซีอีโอ TPL กล่าวอย่างมั่นใจ.

 

TPL ลุยลงทุน\"กรีนโลจิสติกส์\" เสน่ห์แรงรายใหญ่แห่ถือหุ้นไอพีโอ