TPL เข้าเทรด mai วันแรก 30 มิ.ย.นี้ มั่นใจอนาคตหุ้น"High Growth"

29 มิ.ย. 2566 | 10:45 น.
อัพเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2566 | 10:48 น.

บมจ.ไทยพาร์เซิล พร้อมเข้าซื้อขายในตลาด mai 30 มิ.ย. นี้ ด้านซีอีโอ "ภัทรลาภ" มั่นใจกระแสตอบรับคึกคัก ลุ้นเหนือจอง 3.30 บาท มองออกอนาคต"หุ้น High Growth " หนี้สินต่อทุนต่ำ 0.5 เท่า นโยบายจ่ายปันผลสูง 50%

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai ยินดีต้อนรับ บมจ. ไทยพาร์เซิล เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “TPL” ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566

TPL ประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทยทั้งสำหรับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมถึงให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง โดยบริษัทมีความชำนาญในการจัดส่งสินค้าในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะของที่มีน้ำหนักมาก ของที่มีขนาดใหญ่ หรือมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมาตรฐานทั่วไป ปัจจุบันบริษัทให้บริการจัดส่งสินค้าและสิ่งของประมาณ 350,000 - 600,000 ชิ้นต่อเดือน ด้วยยานพาหนะหลายประเภททั้งรถบรรทุก และรถกระบะ รวม 300 คัน โดยมีจุดให้บริการกว่า 120 แห่งทั่วประเทศทั้งในรูปแบบสาขาและแฟรนไชส์

 อ่านเพิ่ม : TPL ลุยลงทุน"กรีนโลจิสติกส์" เสน่ห์แรงรายใหญ่แห่ถือหุ้นไอพีโอ

กลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทได้แก่ ผู้ประกอบการ โรงงาน เจ้าของผลิตภัณฑ์ ตัวแทนให้บริการโลจิสติกส์ เป็นต้น ในปี 2565 บริษัทมีรายได้ตามประเภทของการจัดส่งแบบธุรกิจถึงธุรกิจ (B2B) แบบบุคคลถึงบุคคล (C2C) และแบบธุรกิจถึงบุคคล (B2C) ในสัดส่วนร้อยละ 33 : 36 : 31 ของรายได้การให้บริการตามลำดับ

TPL มีทุนชำระหลังเสนอขาย 262 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 404 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 120 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 96 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัท 18 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน 6 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 22 - 26 มิถุนายน 2566 ในราคาหุ้นละ 3.30 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 396 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,729.2 ล้านบาท

ทั้งนี้การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E Ratio) เท่ากับ 66 เท่า ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิ 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566) เท่ากับ 27.82 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (fully diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.05 บาท โดยมีบริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย

 

นายภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL กล่าวถึงภาพรวมผลการดำเนินงาน ณ ไตรมาส1/2566 บริษัทฯมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2.41 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 18.90% จากงวดเดียวกันปีก่อนเท่ากับ 18.04% และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) 0.53 เท่า

"การระดมทุนในครั้งนี้จะผลักดันให้อนาคต TPL เป็นหุ้น High Growth เพราะทำให้เพิ่มศักยภาพการจัดส่งและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนสนับสนุนความสามารถทำกำไรสูงขึ้นช่วยผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการต้นทุน สนับสนุนฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการรักษาฐานอัตราหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 0.5 เท่า สามารถให้ผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้นได้ในระดับที่ดีในระยะยาว โดยปัจจุบันบริษัทฯมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิ"

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการอย่างต่อเนื่องทั้งกา รลงทุนสร้างศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้าระดับภูมิภาค (Regional Hub) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกและกระจายสินค้า, การเพิ่มจุดให้บริการ (Drop Point) แก่ลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการใช้บริการ และการลงทุนในยานพาหนะทั้งรถบรรทุก 10 ล้อ และ 6 ล้อ ซึ่งใช้สำหรับการขนส่งในเส้นทางระหว่างภูมิภาค (Line Haul) เป็นหลัก และรถกระบะ 4 ล้อ ซึ่งใช้สำหรับการกระจายสินค้าสู่ผู้รับปลายทาง เพื่อให้บริษัทมีกองยานพาหนะที่สามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

รวมทั้งบริษัทฯยังมีแผนที่จะปรับกองยานพาหนะของบริษัทด้วยการนำรถบรรทุกซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้ามาใช้ภายในปี 2566 โดยเริ่มจากเส้นทางในเขตภาคกลางและภาคตะวันออก และจะเร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อก้าวสู่การขนส่งด้วยระบบ"Green logistics" ช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากฝุ่นละออง PM 2.5 ขณะเดียวกันบริษัทฯมีกลยุทธ์ในการดำเนินงานจะให้ความสำคัญกับพัฒนาบุคลากรและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งและระบบสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการมากขึ้น

นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL กล่าวว่า มั่นใจว่าTPL จะเป็นหุ้นน้องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ mai ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้น่าประทับใจให้กับนักลงทุน เนื่องจากมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งมีฐานะการเงินที่มั่นคงแข็งแรง รวมถึงมีจุดเด่นที่น่าสนใจทั้งจากโครงสร้างการให้บริการมั่นคงและครอบคลุมทั่วประเทศ จากประสบการณ์มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สั่งสมมากกว่า 18 ปี ฐานลูกค้าที่หลากหลายทั้ง B2B B2C และ C2C ระบบสารสนเทศพร้อมรองรับการเป็น Data Driven Org.ได้ในอนาคต

นายวรนันท์ ถาวรนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการ การจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL กล่าวว่า TPL เริ่มจากการเป็นผู้ให้บริการขนส่ง และพัฒนามาเป็นบริษัทโลจิสติกส์ที่มีความแตกต่างจากผู้ประกอบการทั่วไปอย่างเด่นชัด และสามารถเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ทุกครั้ง โดยสะท้อนได้จากการรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งภายหลังจากการระดมทุนในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพฐานทุนและโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้มากขึ้น ผลักดันการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคต และเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้โครงสร้างผู้ถือหุ้น TPL หลัง IPO คือกลุ่มครอบครัวจีนะวิจารณะ ถือหุ้นร้อยละ 36.25 และ บมจ.อควา คอร์เปอเรชั่น ร้อยละ 26.73 บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของบริษัทฯ ในแต่ละปี ภายหลังจากหักภาษีและเงินทุนสำรองตามกฎหมาย